“การจมน้ำ” ประเด็นสาเหตุสำคัญสำหรับหลายๆ คนที่ไม่ควรประมาทแม้แต่นิดเดียว เพราะเมื่อหายใจเอาน้ำเข้าไปในปอดหรือกลืนกินน้ำเข้าไป อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งกับคนที่ว่ายน้ำไม่เป็น และว่ายน้ำเป็นแต่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ หรือแม้แต่ว่ายน้ำเก่งก็ตาม
หลายครั้งที่ต้องมีการสูญเสีย มีคนจมน้ำเสียชีวิต หรือแม้กระทั่งคนที่จะลงไปช่วยคนจมน้ำ แต่กลับต้องจมน้ำไปเสียเอง หรือจมหายไปด้วยกัน ดังนั้นบทความนี้ เราจะมากล่าวถึงวิธีการช่วยเหลือคนจมน้ำ เพื่อที่จะได้ศึกษา ทำความเข้าใจ และจำไว้เพื่อนำไปปฏิบัติ จะได้ช่วยเหลือได้อย่างถูกต้อง และปลอดภัยทั้งสองฝ่าย
สิ่งสำคัญประการแรกในการที่จะช่วยคนตกน้ำ คือ “สติ” อย่าลนลาน หรือตกใจจนทำอะไรไม่ถูก เพราะทุกวินาทีในช่วงนั้นสำคัญมากต่อชีวิตของคนที่จมน้ำ จึงต้องตั้งสติให้ได้ แล้วทำดังต่อไปนี้
หลักง่ายๆ ที่ควรจำในการช่วยเหลือคนตกน้ำคือ “ยื่น – โยน -ลาก – พาย”
ยื่น : ยื่นอุปกรณ์ที่มีความยาวและแข็งแรง ไม่เปราะหรือหักง่าย ให้คนที่ตกน้ำได้จับ อย่างเช่น ท่อนไม้ ท่อพีวีซี ไม้ตะขอ เข็มขัด เสื้อผ้า ฯลฯ
โยน : หาเชือกผูกอุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้ เช่น ห่วงชูชีพ ยางในรถยนต์ ถังน้ำพลาสติก แล้วโยนไปให้ผู้ที่กำลังจะจมน้ำได้ยึดเกาะไว้
ลาก : เมื่อผู้ที่ตกน้ำได้เกาะกับอุปกรณ์ลอยน้ำผูกเชือกที่โยนไปให้ ผู้ช่วยเหลือก็ลากคนตกน้ำเข้าฝั่ง
พาย : หากมีเรือพาย หรือพาหนะอยู่ใกล้บริเวณนั้น และพายเรือหรือใช้อุปกรณ์เหล่านั้นเป็น ให้ใช้วิธีพายเรือไปช่วย โดยเรือหรือพาหนะที่ใช้นั้น จะต้องมีขนาดใหญ่พอสมควร ลอยน้ำได้ ไม่ชำรุด เช่น เรือพาย เรือใบ เจ็ตสกี เรือแคนนู เรือกรรเชียง โดยจะต้องโยนสิ่งของลอยได้ตามข้อข้างบน ให้คนตกน้ำได้ยึดเกาะ เพื่อรอให้คนที่จะช่วยได้พายเรือไปช่วยเหลือ
โดยวิธีเหล่านี้ สามารถช่วยเหลือคนตกน้ำได้ โดยที่คนช่วยเหลือก็ปลอดภัย 100% เหมาะเป็นอย่างยิ่งกับคนช่วยเหลือที่ว่ายน้ำไม่เป็น หรือไม่สะดวกที่จะลงไปช่วยในน้ำได้
วิธีการเข้าไปช่วยคนจมน้ำด้วยตนเอง
ก่อนอื่นเราจะพูดถึงท่าว่ายน้ำที่ถูกต้องของการไปช่วยคนตกน้ำ ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 4 ท่า แบ่งเป็นท่าว่ายน้ำตอนไป 2 ท่า และท่าว่ายกลับอีก 2 ท่า
- ท่าว่ายไป ให้ว่ายด้วยท่าฟรีสไตล์ และท่ากบ เพราะ 2 ท่านี้จะยกศีรษะขึ้นจากน้ำ ทำให้มองเห็นตำแหน่งคนตกน้ำ และประเมินสถานการณ์ได้
- ท่าว่ายกลับ คือ ท่ากึ่งกบหงาย (Elementary back stroke) หรือท่าว่ายตะแคง (Side stroke)
การช่วยคนจมน้ำ ข้อควรระวังในการโดดน้ำลงไปช่วย ผู้ให้การช่วยเหลือจะต้องมีประสบการณ์สูง และรู้วิธีการช่วยเหลืออย่างไรให้ปลอดภัยทั้งคนจมน้ำและผู้ช่วยเหลือ และห้ามทานยาในกลุ่มยาแก้แพ้หรือทำให้ง่วงเป็นอันขาด เพราะมันจะเป็นอันตรายกับตัวคุณเอง และอย่าลืมเด็ดขาดว่า มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนานมากจากการช่วยเหลือคนตกน้ำ ซึ่งวิธีการที่ถูกต้องในการโดดลงไปช่วยคนตกน้ำทำได้ดังนี้
ผู้ที่โดดลงไปช่วยจะต้องใส่ชูชีพ และต้องนำอุปกรณ์ช่วยไปด้วย เช่น เสื้อชูชีพ โฟมหรือห่วงยาง ที่ผูกเชือกไว้และคนช่วยเป็นผู้จับปลายเชือก โดยที่เมื่อว่ายเข้าไปจวนจะถึงตัวคนตกน้ำ ให้หยุดอยู่ห่างๆ แล้วโยนอุปกรณ์ที่นำมาด้วยให้กับคนจมน้ำได้เกาะไว้ อย่าเข้าไปใกล้หรือถึงตัวคนจมน้ำ เพราะเขาจะเข้ามากอดเราแน่น ด้วยความตกใจกลัว และต้องการดิ้นรนเอาตัวรอด แล้วจะพาเราจมน้ำไปด้วย หากคนที่จมน้ำจะโผเข้ามาเกาะตัวเรา ให้ดำน้ำหนีออกห่างรัศมีที่เขาจะกอดเราได้ก่อน แล้วค่อยกะระยะโยนอุปกรณ์ให้ใหม่ เมื่อเขาเกาะอุปกรณ์ได้แล้ว เราจึงค่อยดึงปลายเชือกที่ผูกกับอุปกรณ์เหล่านั้นไว้ ลากเข้าหาฝั่ง
วิธีการช่วยเหลือคนตกน้ำที่ว่ายน้ำเป็นแต่หมดแรง หรือคนจมน้ำที่หมดสติ
1.ใช้วิธีดึงเข้าหาฝั่งด้วยการไขว้หน้าอกกรณีที่คนตกน้ำหรือจมน้ำเป็นคนที่ว่ายน้ำเป็น แต่แค่หมดแรงหรือเป็นตะคริว ไม่ได้มีอาการตกใจ หรือรู้วิธีของการช่วยเหลือ ในกรณีแบบนี้จะไม่ค่อยอันตราย และค่อนข้างง่ายสำหรับคนช่วยเหลือสามารถลากเข้าฝั่งได้อย่างปลอดภัย โดยจะต้องเข้าประชิดด้วยทางด้านหลังคนตกน้ำ แล้ใช้ท่า Cross chest คือ การใช้รักแร้เราหนีบบนบ่าเขา และใช้แขนพาดผ่านหน้าอกแบบสะพายแล่งไปจับซอกรักแร้อีกด้าน และว่ายน้ำด้วยท่า Side stroke หรือท่าว่ายตะแคงกลับเข้าฝั่ง
2. ดึงเข้าหาฝั่งด้วยการประคองหน้าหรือจับคางหงาย
ถ้าคนจมน้ำสลบ จะต้องลากคนจมน้ำเข้าฝั่งโดยให้ประคองหน้า จมูก และปาก ของผู้ประสบเหตุ พ้นน้ำ และลอยเหนือผิวน้ำ เพื่อให้สามารถหายใจได้ตลอดระยะเวลาที่ถูกพากลับเข้าฝั่ง
3. ดึงผู้ประสบเหตุเข้าฝั่งด้วยวิธีจับผม
อ่านแล้วเหมือนจะน่ากลัว แต่คนช่วยเหลือจะเข้าประชิดด้านหลังคนจมน้ำ จัดท่าทางให้จมูกและปากของผู้ประสบเหตุให้ลอยเหนือน้ำ แล้วจับผมของคนจมน้ำให้แน่น จากนั้นก็ว่ายมือเดียวเข้าหาฝั่ง ซึ่งวิธีนี้คนช่วยเหลือจะต้องมีร่างกายแข็งแรง และต้องใช้พลังเยอะ เนื่องจากต้องว่ายน้ำด้วยมือข้างเดียวเท่านั้น
นอกจากนี้ คนที่ช่วยเหลือ ควรอย่างยิ่งที่จะต้องมีความรู้ ในการช่วยเหลือคนจมน้ำ ปฐมพยาบาลเบื้องต้น ก่อนนำส่งโรงพยาบาล โดยที่เมื่อนำคนจมน้ำขึ้นฝั่งแล้ว ระหว่างรอรถพยาบาลหรือรถฉุกเฉินมารับตัวคนป่วย ให้สังเกตและทำการช่วยเหลือดังนี้
1.หากผู้ป่วยหยุดหายใจ : ให้ทำการเป่าปากคนจมน้ำเพื่อช่วยหายใจทันที อย่ารอ หรือเสียเวลาในการช่วยผายปอด หรือเอาน้ำออกจากปอดด้วยวิธีอื่น เพราะอาจจะไม่ทันการณ์ และเมื่อเป่าปากไปสักพักแล้วรู้สึกว่าลมเข้าปอดคนป่วยได้ไม่เต็มที่ อาจเนื่องจากมีน้ำอยู่เต็มท้อง ก็ให้จับคนป่วยนอนคว่ำลง แล้วใช้มือทั้งสองข้างวางใต้ท้อง แล้วยกท้องคนป่วยขึ้น เพื่อไล่น้ำในท้องให้ไหลออกทางปาก จากนั้นจับผู้ป่วยนอนหงายตามเดิม แล้วทำการเป่าปากต่อไป
2.หากผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้น หรือคลำชีพจรไม่ได้ ให้ทำการช่วยคนจมน้ำ CPR นวดหัวใจทันที
3.ผู้ป่วยหายใจได้เอง หรือช่วยเหลือจนผู้ป่วยกลับมาหายใจได้แล้ว จับผู้ป่วยนอนตะแคงข้าง โดยให้ศีรษะหงายไปข้างหลัง เพื่อให้น้ำไหลออกจากทางปาก และห่มผ้าเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ผู้ป่วย ห้ามให้ผู้ป่วยกินอาหารหรือดื่มน้ำทางปาก
4.ส่งผู้ป่วยที่จมน้ำทุกรายไปโรงพยาบาล ไม่ว่าจะมีอาการหนักหรือเบา หรือแม้แต่จะรู้สึกตัวแล้วก็ตาม เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยการรักษาให้ถูกต้องตามอาการต่อไป
5.ทำ CPR และเป่าปากช่วยหายใจให้ผู้ป่วยตลอดทาง ระหว่างที่กำลังส่งตัวไปโรงพยาบาล ในรายที่ผู้ป่วยหมดสติหรือหยุดหายใจ โดยจะต้องทำการเป่าปาก สลับการนวดหัวใจ ไปตลอดระยะทาง อย่าหมดหวัง และอย่าหยุด เพราะทุกๆ เสี้ยววินาทีก่อนถึงมือหมอ เป็นช่วงระหว่างความเป็นความตายของผู้ป่วยเช่นกัน และมีหลายครั้ง ที่ผู้ป่วยจมน้ำรอดชีวิตได้ เพราะการทำ CPR ร่วมกับการรักษาที่ถูกต้องทางการแพทย์
การช่วยเหลือคนตกน้ำ พลัดตกจากเรือ หรือคนจมน้ำ ได้อย่างถูกวิธี จะช่วยลดความสูญเสีย หรือผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ทุกฝ่าย และกรณีที่พบผู้ประสบเหตุ ตกน้ำ จมน้ำ เกิดอุบัติเหตุ หรือป่วยฉุกเฉิน ให้รีบติดต่อแจ้งสายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือได้ตลอด 24 ชั่วโมง