หลายคนที่ไม่ใช่นักดื่ม ไม่ใช่สายแอลกอฮอล์ แต่กลับป่วยเป็นโรคตับแข็ง ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า โรคตับแข็งคืออะไร และสาเหตุที่ทำให้เป็นตับแข็งเกิดจากอะไรได้บ้าง
โรคตับแข็งคืออะไร
โรคตับแข็ง คือ ภาวะของโรคตับเรื้อรังระยะสุดท้าย ผู้ป่วยโรคตับแข็งเกิดจากที่ตับมีอาการอักเสบเรื้อรัง จนมีการสูญเสียเซลล์เนื้อตับ มีพังผืดในตับจำนวนมากอันเนื่องมาจากความผิดปกติที่โครงสร้างของตับ จนตับมีภาวะแทรกซ้อนและไม่สามารถทำงานได้ปกติ
โรคตับแข็ง เกิดจากอะไรได้บ้าง
โรคตับแข็งเกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน ได้แก่
- ไวรัสตับอักเสบเรื้อรัง เช่น ไวรัสตับอักเสบบี และ ไวรัสตับอักเสบซี
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นระยะเวลานาน
- พันธุกรรม เช่น Wilson disease คือ ความผิดปกติของตับที่ไม่สามารถขับทองแดงออกจากร่างกายได้ จนทำให้มีทองแดงสะสมมากเกินไป หรือ Hemochromatosis คือ ภาวะที่ร่างกายไม่สามารถขับธาตุเหล็กออกจากร่างกายได้
- โรคแพ้ภูมิตนเองที่ตับ เช่น Autoimmune hepatitis , Primary sclerosing cholangitis หรือ Primary biliary cholangitis เป็นต้น
- โรคท่อทางเดินน้ำดีฝ่อตั้งแต่แรกเกิด หรือที่เรียกว่า Biliary atresia
- มีภาวะไขมันคั่งในตับ มักจะพบในผู้ป่วยเบาหวาน หรือในคนอ้วน
- หลอดเลือดดำทางของออกของตับมีการอุดกั้น
- ภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง
- ได้รับยาปฏิชีวนะหรือยาสมุนไพรที่มีผลข้างเคียงต่อตับ
- ภาวะอ้วน หรือมีน้ำหนักเกิน
- ไม่พบสาเหตุ
โรคตับแข็ง อาการเป็นอย่างไร
ในช่วงแรก ๆ แทบจะไม่มีการแสดงออกอาการของโรคตับแข็ง หรือมีสัญญาณบ่งบอกน้อยมาก และส่วนใหญ่อาการของโรคมักจะมีลักษณะที่ไม่ชัดเจน เช่น เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย คันตามตัว และอาจมีภาวะแทรกซ้อนหลังจากที่การทำงานของตับเริ่มแย่ลง เช่น ตัวเหลือง ตาเหลือง ดีซ่าน ตัวบวม เท้าบวม ท้องมาน น้ำหนักลด อาเจียนเป็นเลือด
วิธีรักษาโรคตับแข็งและการดูแลผู้ป่วย
- หาสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคตับแข็ง โดยไปพบแพทย์เพื่อให้ทำการวินิจฉัย และหาวิธีการรักษาได้อย่างเหมาะสม
- งดหรือหยุดดื่มแอลกอฮอล์
- งดการใช้ยาที่ส่งผลต่อตับ เช่น ยากดภูมิคุ้มกัน หรือยาขับธาตุเหล็กหรือทองแดง เป็นต้น
- แพทย์จะทำการประเมินเพื่อหาภาวะแทรกซ้อน และระยะอาการของโรคตับแข็ง โดยอาจทำการส่องกล้อง หรือการทำอัลตราซาวด์ เพื่อดูน้ำในช่องท้อง หลอดอาหาร หรือกระเพาอาหาร เป็นต้น
- แพทย์จะทำการพิจารณาการให้วัคซีนที่จำเป็น หากไม่มีภูมิคุ้มกัน อาจต้องจ่ายวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ และ ไวรัสตับอักเสบบี
- ทำการเจาะเลือดและอัลตราซาวด์ทุก ๆ 6 – 12 เดือน เพื่อคัดกรองมะเร็งตับ
- หมั่นออกกำลังกายที่เหมาะสมกับระยะของโรคตับแข็ง โดยจะต้องปรึกษาแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ เพราะผู้ป่วยที่เป็นโรคตับแข็งในระยะหนัก ๆ อาจต้องงดออกกำลังกายบางประเภท ที่อาจส่งผลต่อการเพิ่มความดันในช่องท้อง จนทำให้เส้นเลือดขอดแตกได้
- ควบคุมการโภชนาการให้เหมาะสม มีการแบ่งมื้ออาหารตามความเหมาะสม ลดการทานเกลือ เพิ่มโปรตีน ซึ่งจะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมจากทางแพทย์ หรือผ่านการดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญ
- ระมัดระวังการใช้ยาที่มีผลต่อตับโดยตรง เช่น พาราเซตามอล
โรคตับแข็งรักษาหายไหม
แม้ว่าโรคตับแข็งจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ในอดีต ยกเว้นว่าจะมีการปลูกถ่ายตับ แต่ปัจจุบันพบว่า การรักษาโรคตับแข็ง โดยการป้องกันและเอาสาเหตุที่จะไปกระตุ้นให้ตับเสียหายออกไป จะช่วยให้ตับสามารถทำงานได้ดีขึ้น เช่น การใช้ยาต้านไวรัสบี หรือ ยาต้านไวรัสซี รวมไปถึงการหยุดดื่มแอลกกอฮอล์ การงดใช้ยาที่ส่งผลต่อตับ พบแพทย์เพื่อติดตามตรวจอาการเป็นระยะ การดูแลรักษาที่เหมาะสมและเคร่งครัด ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาให้อาการดีขึ้นจนอาจสามารถหายได้ในที่สุด