หากคุณคิดว่าจุดที่ไททานิคจมคือจุดที่ลึกที่สุดในมหาสมุทร ขอบอกว่า ไม่ใช่ค่ะ เพราะยังมีจุดที่ลึกที่สุดในมหาสมุทรที่คุณอาจคาดไม่ถึงว่าจะมีอยู่ในโลกใบนี้ บทความนี้จะพาไปรู้จักกับจุดที่ลึกที่สุดในโลก ที่เมื่อเทียบกับจุดที่เรือไททานิคจม อาจทำให้คุณต้องประหลาดใจ เพราะจุดเรือไททานิคยังตื้นกว่ามากหลายเท่า!
จุดที่ลึกที่สุดในโลก คือ จุดที่มีชื่อว่า Challenger Deep (แชลเลนเจอร์ ดีป) อยู่ในร่องลึก Mariana Trench หรือ (ร่องลึกบาดาลมาเรียนา) ซึ่งเป็นร่องลึกรูปพระจันทร์เสี้ยวที่มีขนาดใหญ่มาก โดยมีความกว้างโดยเฉลี่ยที่ 69 กิโลเมตร และความยาวท้้งหมดเกือบ 2,550 กิโลเมตร ตั้งอยู่ทางตะวันออกของฟิลิปปินส์ และด้านล่างสุดของ Mariana Trench นี้เอง ที่เป็นจุดลึกที่สุดในโลก Challenger Deep โดยตำแหน่งของจุดนี้อยู่บริเวณนอกเกาะกวมของสหรัฐอเมริกา ความลึกประมาณ 11 กิโลเมตร หรือ 10,302 เมตร ซึ่งถ้านำยอดเขาเอเวอร์เรสต์ที่ถือว่าเป็นจุดสูงสุดบนโลกไปวางไว้ด้านล่างสุดของ Challenger Deep ยอดเขาเอเวอร์เรสต์ยังอยู่ต่ำกว่าระดับผิวน้ำอีกกว่า 2 กิโลเมตร
Mariana Trench หรือ ร่องบาดาลมาเรียนาเกิดจากเปลือกโลกฝั่งฟิลิปปินส์และเปลือกโลกฝั่งแปซิฟิกเลื่อนชนกัน แต่เนื่องจากเปลือกโลกแปซิฟิกมีความบางกว่าจึงเคลื่อนตัวลงสู่ผิวโลกหลังจากที่ชนกัน ทำให้มีการยุบตัวเกิดขึ้นในแนวดิ่งจมสู่ก้นทะเลลึก หรือที่เรียกว่า Subduction (การมุดตัว) จนกลายเป็นร่องลึกบาดาล เมื่อประมาณ 150 ล้านปีที่แล้ว และด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์บริเวณนี้ส่วนใหญ่เป็นเกาะเล็ก เกาะน้อย อีกทั้ง Challenger Deep อยู่ห่างไกลจากแผ่นดินมาก จึงไม่มีการสะสมตะกอนจากแม่น้ำต่าง ๆ ที่ไหลลงสู่มหาสมุทร ทำให้แชลเลนเจอร์ ดีป กลายเป็นจุดที่มีความลึกมากที่สุดเมื่อเทียบกับบริเวณที่เกิด Subduction ในจุดอื่น ๆ ทั่วโลก
มหาสมุทรจะมีระดับชั้นต่าง ๆ ลึกลงไป โดยจะมีชื่อเรียกในแต่ละระดับความลึกต่างกันไป โดยโซนที่ยังมีแสงแดดส่องถึง ซึ่งเป็นโซนที่อยู่ชั้นบนสุดจนลึกลงไปประมาณ 200 เมตร จากระดับผิวน้ำ เรียกว่า Epipelagic Zone ถัดไปจะเป็นโซน Mesopelagic Zone หรือ โซนแดนสนธยา โดยนับต่อจากโซนแสงแดดจนต่อไปอีก 1,000 เมตร และ โซนต่อไปคือ โซนเที่ยงคืน หรือ The Bathypelagic Zone โดยโซนนี้จะนับระดับความลึกที่ 4,000 เมตร ไปจนถึงระดับที่ 6,000 เมตร เป็นจุดที่มีอุณหภูมิใกล้จุดเยือกแข็ง มืดสนิท ไร้แสงสว่างใด ๆ มีอันตรายและแรงกดของน้ำมหาศาล สามารถบดขยี้กระดูกให้แหลกเหลวได้ ทำให้สิ่งมีชีวิตเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้นที่จะอยู่รอดได้ในโซนนี้
ส่วนที่ Challenger Deep อยู่นั้นลึกลงไปจากโซนเที่ยงคืนอีกมาก ซึ่งเป็นโซนที่เรียกว่า Hadalpelagic Zone หรือ เรียกว่า Hadal Zone (โซนฮาดาล) ซึ่งเป็นชื่อที่เรียกตามชื่อของเทพเจ้าฮาเดส ซี่งเป็นเทพเจ้าผู้ปกครองโลกแห่งความตายของกรีกโบราณ โดยโซนนี้มีแพลงก์ตอนชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวชนิด Foraminifera และปลิงทะเลน้ำลึก ซึ่งสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ที่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ในโซนที่ไม่มีแสงแดดส่องถึง เพราะอาศัยสารอาหารจากน้ำร้อนที่เกิดจากปฏิกิริยาเคมีของน้ำทะเลกับแม็กมาจากภูเขาไฟโคลนใต้พื้นมหาสมุทรนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม สหรัฐอเมริกาได้ประกาศให้ Mariana Trench เป็นอนุสรณ์สถานแห่งชาติในปี 2009 เพื่อปกป้องและอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ที่หายาก รวมไปถึงระบบนิเวศน์ใต้น้ำ โดยอนุสรณ์สถานแห่งชาติร่องลึกมาเรียนาครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 246,049 ตารางกิโลเมตร ส่วนความลึกที่แท้จริง Challenger Deep ยังคงเป็นปริศนาลึกลับที่รอใครสักคนพิสูจน์ความจริง!!