คิดว่าน่าจะเคยเป็นกันทุกคนนะ (ยกเว้นคุณจะเป็น ทนายอูยองอู จากซีรี่ส์เรื่อง Extraordinary Attorney Woo อ่ะนะ) ที่อ่านอะไรบางอย่างแล้วก็ลืมไปหมด ข้อมูลนี้มันเป็นยังไงนะ ทำไมเหมือนอ่านแล้วแต่จำไม่ได้เลย บางทีก็เหมือนมันติดอยู่ที่ปาก แต่ก็นึกไม่ออกซักที
การอ่านหนังสือแค่อ่านมันอาจจะยังไม่พอ เพราะบางทีเราอาจได้ใช้ข้อมูลบางอย่างในนั้นด้วย โดยเฉพาะนักเรียน นักศึกษาที่เน้นอ่านเพื่อท่องจำ แต่ไม่ต้องห่วง ยุคสมัยแห่งนกแก้วกำลังจะหมดไป เพราะเรามีเทคนิคที่ชาวตะวันตกใช้กันอย่างแพร่หลาย และนี่คือ 6 เทคนิคการจำที่จะไม่พลาด เมื่อเราเจอข้อมูลสำคัญๆ

ไฮไลท์ไว้สิ
เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดแล้วในการกระตุ้นให้สมองของเราจดจำข้อมูลบางอย่าง แถมยังง่ายเวลาที่เราอยากจะกลับมาอ่านซ้ำอีกรอบ เราไม่จำเป็นต้องอ่านทั้งหมดก็ได้ เพราะเรารู้แล้วว่าที่เราไฮไลท์ไว้นั้นนั่นแหละคือเรื่องสำคัญ ส่วนที่ไม่ได้ทำเครื่องหมายไว้ก็ข้ามๆ ไปได้
และมันจะสะดวกขึ้นไปอีก ถ้าคุณกำลังเรียนอยู่ ไม่ต้องวันไนท์มิราเคิลแล้วนะ

สรุปและอภิปราย
อาจจะดูเป็นเรื่องใหญ่ที่อาจต้องหาคนมาร่วมพูดคุยหรือเปล่า แต่บอกเลยว่าไม่ใช่ เพราะเราสามารถสรุปสิ่งที่เราอ่านได้ด้วยคำของเราเอง และก็ลองทบทวนดูว่าเราพบเจอข้อมูลนี้แล้วมันสำคัญอย่างไร แล้วมันมีกรณีใกล้เคียงสิ่งนี้ไหม เราจะสามารถทดสอบข้อมูลนี้ได้ยังไง การทำเช่นนี้จะช่วยให้เราไม่ต้องแบกภาระจดจำคำต่อคำ แต่เราจะได้รากฐานขององค์ความรู้นั้นและเข้าใจมันอย่างง่ายดายด้วยคำพูดของเราเอง

สร้างความรู้สึกบางอย่างให้ตัวเอง
นี่เป็นวิธีที่ดูไม่แพร่หลายนัก แต่เป็นวิธีที่เราใช้ในการเรียน และมันได้ผล นั่นก็คือ “ลองทำให้ตัวเองรู้สึกว่าข้อมูลนี้มันน่าสนใจ” บางคนอาจจะมองว่าเป็นการโกหกตัวเองทางหนึ่งนี่นา จริงๆ มันก็ใช่ แต่มันเหมือนการทำไฮไลท์ ต่างกันที่วิธีนี้จะเป็นการรวมข้อ 1 และ 2 เข้าไว้ด้วย
บางทีเราอาจไม่รู้สึกว่าข้อมูลนี้มันน่าสนใจอะไร แต่ถ้าเราลองมองว่ามันน่าสนใจและมีประเด็นให้พูดคุยต่อ เช่นเดียวกับไฮไลท์ มันจะกระตุ้นให้สมองของเราสามารถจดจำข้อมูลนี้แบบไม่ตั้งใจ ยิ่งเราหาเหตุผลให้มันรู้สึกว่าน่าสนใจ เรายิ่งเพิ่มองค์ความรู้ให้ตัวเองมากขึ้นจากการรวมข้อมูลนั้นมามองไว้ในมุมมองของเราเอง

รวบองค์ความรู้
ดูเหมือนเป็นคำทางการมาก จริงๆ มันก็คือการเชื่อมข้อมูลใหม่กับข้อมูลที่เรารู้อยู่แล้ว อย่างเช่นถ้าเราเจอข้อมูลที่น่าสนใจมากๆ แล้วเรารู้สึกว่าต้องจำมันให้ได้ การจดไว้บางทีมันจะทำให้สมองของเรารู้สึกว่าได้ทำแล้ว ไม่ต้องกระตุ้นมาก ยังไงก็กลับมาอ่านได้ แล้วในหลายๆ กรณีเราก็ลืมมันไปตลอดกาล
แต่หากเราลองเชื่อมเข้ากับข้อมูลที่เรารู้อยู่แล้ว หรือสิ่งที่เราเคยพบเจอมาแล้วในชีวิต บางทีเราอาจจะไม่เข้าใจในเชิงลึกมากนักในตอนนั้น แต่หากเราลองรวมกับข้อมูลใหม่ที่เราเพิ่งได้รับ มันจะช่วยให้เราเข้าใจสิ่งต่างๆ มากขึ้น ในแง่มุมที่แตกต่างกัน ในแต่ละช่วงเวลา และในแต่ละข้อมูลที่ได้รับ

ใช้ปัจจัยภายนอกเป็นตัวกระตุ้น
เป็นอีกวิธีที่หลายคนอาจจะนึกไม่ถึง แต่มันมีประสิทธิสูงมาก
เมื่อเรานึกถึงช่วงเวลาที่เราตื่นเต้น หรือเจอเรื่องที่ทำให้เรากลัว เราจะจำมันได้ดีมากๆ เราแทบจะสามารถเล่าทุกๆ รายละเอียดแม้ผ่านมาหลายปี นั่นก็เพราะอดรีนาลีนที่เป็นตัวกระตุ้นความจำ หากเราต้องการที่จะใช้ในรูปแบบเดียวกัน เราสามารถจำลองความรู้สึกนั้นได้โดยทำอะไรซักอย่างหลังจากอ่านเสร็จทันที เช่น เมื่ออ่านบทสสำคัญที่ต้องสอบเสร็จ เราต้องลุกไปอาบน้ำเย็นทันที หรือดื่มกาแฟทันที เพราะความรู้สึกฉับพลันหลังจากได้รับข้อมูลจะเป็นตัวกระตุ้น ถ้าไม่ใช่ให้จำได้โดยเร็วก็คือจำไม่ได้เลย
อีกวิธีที่ได้ผลไม่แพ้กันก็คือกลิ่น เช่นเดียวกับการได้กลิ่นน้ำหอมบางกลิ่นแล้วเรานึกถึงหน้าใครบางคน หากเราอ่านหนังสือในสภาพแวดล้อมที่มีกลิ่นเป็นเอกลักษณ์ เช่นไม้หอม ซิตรัส ฯลฯ มันจะเป็นความทรงจำ+ประสบการณ์อีกรูปแบบหนึ่ง เมื่อเราได้กลิ่นนั้นอีกที สมองเราจะนึกภาพความรู้สึกที่เคยรวมไว้ในกลิ่นดังกล่าวอัตโนมัติ แต่หากจะใช้อ่านหนังสือก่อนสอบก็ต้องหาจุดสังเกตเพิ่มเติม เพราะบางทีหากไม่ได้กลิ่นนั้น เราก็อาจจะจำข้อมูลที่เกี่ยวข้องไม่ได้เหมือนกันนะ

โฟกัสกับการอ่านให้มีความสุข
เราเคยกล่าวในข้างต้นแล้วว่าหากเราลองสร้างความรู้สึกให้ตัวเอง เราจะสามารถจำได้ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม การจะกระตุ้นตัวเองให้สนุกไปกับหนังสือทั้งเรื่องทั้งๆ มันก็ใช่ที่ เพราะบางเรื่องมันก็อาจจะเกินเยียวยา และบางข้อมูลเราก็ไม่ได้รู้สึกสนใจมันจริงๆ นี่นะ
ดังนั้นบางครั้งเราก็ต้องเซฟตัวเองบ้าง ถ้าอ่านแล้วไม่มีความสุขและไม่ได้จำเป็นขนาดนั้น จะวางมันลงก็ได้ เพราะเราอยากให้ทุกคนมีความสุขกับการอ่าน และกิจกรรมที่ทุกคนชื่นชอบ