
โรคประจำของกลุ่มคนทำงานออฟฟิศ หรือผู้ที่ต้องทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ระยะเวลานาน และผู้ที่มักจะก้มใช้โทรศัพท์บ่อยๆ ก็มักจะหนีไม่พ้นโรค office syndrome โรคยอดฮิตที่ไม่มีใครอยากเป็น เพราะช่างน่ารำคาญในกลุ่มคนที่มีอาการเพียงเล็กน้อย แต่มันแสนทรมานสำหรับผู้ที่เป็นออฟฟิศซินโดรมอาการหนักและรุนแรง
โรคออฟฟิศซินโดรม หรือ office syndrome คือ การปวดกล้ามเนื้อเยื่อพังผืด ปวดอักเสบเนื้อเยื่อและกลุ่มเส้นเอ็น รวมไปถึงอาการปวดต้นคอ บ่า ไหล่ สะบักจม ปวดหลังหรือเอว ข้อมืออักเสบ ตาล้า มีอาการชาและอ่อนแรงจากปลายประสาทที่ถูกกดทับ โดยโรคออฟฟิศซินโดรมสาเหตุเกิดจากการใช้มัดกล้ามเนื้อเดิมๆในอากัปกิริยาซ้ำๆเป็นเวลานาน รวมไปถึงอิริยาบถที่ไม่เหมาะสม เช่น การนั่งไขว่ห้างประจำ การก้มดูมือถือนานๆ เป็นเหตุให้มัดกล้ามเนื้อที่ถูกใช้งานซ้ำๆมีการหดเกร็งหรือยืดค้างรูปแบบเดิม จนขมวดเป็นก้อนตึงและมีอาการบาดเจ็บตามมา
ร่างกายของเราจะมีส่วนกล้ามเนื้อต่างๆที่มีลักษณะร้อยโยงเชื่อมต่อกันร้อยโยงไปมา เมื่อกล้ามเนื้อส่วนใดขมวดเป็นปมก็จะทำการดึงรั้งในส่วนอื่นไปด้วย แรกๆอาจจะรู้สึกปวดจุดใดจุดหนึ่ง แต่เมื่อผ่านไปนานๆ จะขยายอาการปวดเป็นบริเวณกว้าง จนไม่รู้ว่าปวดจุดใดกันแน่ เนื่องมาจากการดึงรั้งในส่วนที่เชื่อมโยงต่อกัน

อาการออฟฟิศซินโดรม
ออฟฟิศซินโดรมอาการจะมีหลายรูปแบบและเกิดได้ในหลายบริเวณของร่างกาย และอาการที่มักจะพบบ่อยในผู้เป็นออฟฟิศซินโดรมมีดังนี้
- อาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด เป็นอาการที่พบมากที่สุดในกลุ่มออฟฟิศซินโดรม โดยเริ่มจากการปวดกล้ามเนื้อบริเวณ คอ บ่า ไหล่ สะบัก หลัง สะโพก และมักจะมีอาการเรื้อรังไม่หายขาด
- เอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ มักจะมีอาการบวมและปวดบริเวณตามข้อต่างๆ อย่างข้อมือ ข้อศอก ข้อเท้า และหัวไหล่ โดยอาการปวดออฟฟิศซินโดรมชนิดนี้เกิดจากการใช้งานซ้ำถี่ๆ การกระแทกรุนแรง หรือจากการเกิดอุบัติเหตุ
- เส้นประสาทที่ข้อมือถูกกดทับ เกิดจากบริเวณฝ่ามือมีผังผืด ทำให้เส้นประสาทบริเวณนั้นถูกกดทับ จึงทำให้มีอาการรู้สึกปวด ชา ตามนิ้วมือ ฝ่ามือ ข้อมือ และแขน
- นิ้วล็อค เกิดจากการใช้นิ้วมือออกแรงมากๆบ่อยครั้ง ทำให้เส้นเอ็นของนิ้วมือเกิดการเสียดสีและอักเสบ ซึ่งจะพบได้บ่อยในกลุ่มคนที่ทำงานแม่บ้าน นักจัดสวน เกษตรกร หรือคนที่ต้องใช้ความเคลื่อนไหวของนิ้วตลอดเวลาอย่างนักพิมพ์บทความ เป็นต้น
- ปวดหัวออฟฟิศซินโดรม มักจะเกิดจากการลุกลามการปวดกล้ามเนื้อบริเวณบ่าที่ตึง ทำให้เลือดไม่สะดวกในการไหลไปเลี้ยงส่วนสมอง บางครั้งก็อาจเกิดจากอาการปวดตาหรือตาแห้ง ทำให้ร้าวไปถึงหัวได้ และบางคนก็อาจรุนแรงจนปวดหัวไมเกรน
- ปวดตา / ตาแห้ง อาการปวดตาที่เกิดจากการจ้องจอคอมพิวเตอร์หรือหน้าจอมือถือนานๆ อาจทำให้เกิดอาการตาล้า ปวดตา และตาแห้งได้ และอาการเหล่านี้ก็อาจส่งผลต่อออฟฟิศซินโดรมมึนหัว ปวดหัว และการปวดไมเกรนได้
- ปวดหลังออฟฟิศซินโดรม เกิดจากท่ายืนหรือท่านั่งที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานานๆ หรือการใช้งานส่วนกล้ามเนื้อบริเวณหลังรุนแรง จนทำให้เกิดการสะสมและอาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มออฟฟิศซินโดรมที่เกิดจากกระดูกสันหลังมีปัญหา เช่น โรคหมอนกระดูกทับเส้นประสาท โรคกระดูกสันหลังคด เป็นต้น ซึ่งก็มีส่วนมาจากออฟฟิศซินโดรมเรื้อรัง และท่าเดิน ยืน นั่งของเราที่สะสมบ่อยครั้ง โดยอาการเหล่านี้ล้วนเป็นอาการรุนแรงที่ควรรีบทำการรักษา
แก้อาการ office syndrome แบบเร่งด่วน
- ออกกำลังกาย หรือบริหารกล้ามเนื้อขณะทำงานเป็นระยะ เพื่อยืดกล้ามเนื้อส่วนบนและกล้ามเนื้อส่วนล่าง ไม่ให้มีการค้างท่าเดิมๆจนกล้ามเนื้อหดเกร็ง โดยเฉพาะการยืดกล้ามเนื้อในส่วนที่ปวด เช่น การเอียงคอสลับซ้าย-ขวา ช้าๆ เพื่อแก้ปวดคอออฟฟิศซินโดรม
- นวดผ่อนคลายขณะทำงาน อาจใช้น้ำมันนวด แผ่นประคบ หรือครีมแก้ปวดทาเพื่อคลายปวดกล้ามเนื้อ
- ทานยาแก้ปวด ข้อนี้นอกจากเป็นการแก้ที่ปลายเหตุแล้ว การรับประทานยาประจำอาจส่งผลข้างเคียงต่อระบบอื่นในร่างกายได้

รักษาโรคออฟฟิศซินโดรมที่ไหนดี
เพราะโรคกลุ่มออฟฟิศซินโดรมเกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อ กระดูก ระบบประสาท และยังมีสาเหตุจากพฤติกรรมของเราเองด้วย การรักษาจึงต้องอาศัยการตรวจหาสาเหตุและวิธีการบําบัดออฟฟิศซินโดรมหลายด้าน โดยมีทั้งแบบแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย การใช้ระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ฯลฯ ซึ่งก็มีโรงพยาบาลรักษาออฟฟิศซินโดรมหลายแห่งด้วยกันในประเทศไทย เพราะเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้แทบทุกวัย โดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นกลุ่มคนทำงานหรือพนักงานออฟฟิศเท่านัน เนื่องด้วยปัจจัยที่เอื้อหลายอย่างในปัจจุบัน การศึกษาจากระบบออนไลน์ที่ต้องเรียนจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่การหันมาใช้เทคโนโลยีทางโทรศัพท์มือถือมากขึ้นของผู้สูงอายุ
การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้กับเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อรักษาออฟฟิศซินโดรมโดยเฉพาะ มีทั้ง X-ray , MRI , EMG , การตรวจด้วยคลื่นไฟฟ้า เหล่านี้ เพื่อทำการตรวจให้แน่ชัดในการหาวิธีรักษาให้ตรงกับอาการปวดออฟฟิศซินโดรมของผู้ป่วย เช่น การใช้เครื่องกระตุ้นแม่เหล็กไฟฟ้า การจัดกระดูกสันหลัง การแก้ออฟฟิศซินโดรมด้วยการใช้ความเย็นจัด

นอกจากนี้ยังมีวิธีแก้ออฟฟิศซินโดรมทางแพทย์แผนไทยอย่างการนวดประคบร้อน-เย็น การนวดไทย หรือทางการแพทย์แผนจีนอย่างการฝังเข็ม จะช่วยแก้อาการออฟฟิศซินโดรมที่มีสาเหตุจากกล้ามเนื้อตึงได้ แต่สำหรับอาการ office syndrome ที่เกิดเกี่ยวกับระบบเส้นประสาท หรือเส้นเอ็น อาจไม่สามารถช่วยรักษาได้ และอาจไปกระตุ้นให้เกิดอาการปวดมากยิ่งขึ้น ดังนั้นหากนวดสัก 1-2 ครั้งแล้วอาการไม่ดีขึ้นแต่กลับแย่ลง ให้รีบไปพบแพทย์ และจะให้ดีที่สุดคือควรทำการพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและวิธีการรักษาออฟฟิศซินโดรมให้ตรงกับอาการก่อนที่จะไปทำการนวดประคบใดๆ
ส่วนอุปกรณ์เสริมต่างๆที่จำหน่ายในท้องตลาดหรือช้อปออนไลน์ เช่น สายรัดไหล่หลังตรง เบาะรองหลัง เบาะรองนั่งปรับหลังตรง สายรัดเอว ฯลฯ อุปกรณ์เหล่านี้อาจช่วยลดอาการปวดได้ในระดับหนึ่ง ช่วยยืดกล้ามเนื้อที่หดตึงได้บ้าง แต่ไม่มีหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าจะสามารถช่วยรักษาหรือแก้ออฟฟิศซินโดรมได้ถาวร
อาจมีหลายๆคนที่ไม่อยากไปรักษาออฟฟิศซินโดรมโรงพยาบาลสถานการณ์โควิดระบาดจึงซื้อยาแก้ออฟฟิศซินโดรมมาทานเอง ในส่วนนี้อยากแนะนำว่าควรทำการพบแพทย์จะดีเพื่อให้ทำการวินิจฉัยได้ถูกต้อง แต่ถ้าไม่สะดวกใจที่จะไปโรงพยาบาลจริงๆและมีอาการเพียงเล็กน้อย อาจรับประทานยาที่ออกฤทธิ์ไม่รุนแรง อย่างเช่น พาราเซตามอล และพักการใช้งานในส่วนหรือบริเวณที่ปวด แต่ถ้าหากอาการไม่ดีขึ้น ควรทำการไปพบแพทย์เพื่อรักษาได้ถูกวิธี และเพื่อไม่ให้เกิดการสะสมจนเป็นอาการเรื้อรัง
ควรหมั่นสังเกตอาการของออฟฟิศซินโดรมที่เป็น เพราะหากปวดหลัง มีอาการคอ-บ่า-ไหล่ตึง ปวดศีรษะ ปวดตา ตาพร่า ตาแห้ง ปวดตึงที่ขา มีอาการเหน็บชา มือชา ปวดข้อมือ นิ้วล็อค ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะเป็นอาการออฟฟิศซินโดรมที่เกิดจากการนั่งทำงานท่าเดิมๆ ใช้สายตากับหน้าจอตลอดเวลา ก้มมองจอเป็นเวลานานๆ ใช้ส่วนมือในการพิมพ์และเม้าส์ แต่ถ้าปวดคอร้าวลงมาที่บ่า ไหล่ สะบัก แขน หรือมีอาการอ่อนแรงร่วมด้วย การทรงตัวและการเดินผิดปกติ นั่นอาจเป็นสัญญาณของโรคหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท หรือเข้าข่ายโรคอื่นที่รุนแรงกว่า จึงควรสังเกตและรีบทำการเข้าพบแพทย์เพื่อจะได้ทำการรักษาได้แต่เนิ่นๆ

ถึงแม้ว่ากลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรมจะไม่มีอันตรายรุนแรงถึงชีวิต แต่ก็สร้างความรำคาญและทรมานกับผู้ที่เป็น ดังนั้นการรักษาแต่เนิ่นๆเพื่อไม่ให้ลุกลามจนเรื้อรังจะเป็นผลดีกว่า เพราะเมื่อสุขภาพกายแย่ ก็ส่งผลต่อระบบจิตใจจากความเจ็บปวด และยังส่งผลไปถึงการทำงาน ที่อาจทำได้ไม่เต็มที่ หรือทำงานอย่างไม่มีความสุข เพราะถูกรบกวนด้วยความเจ็บปวดจากอาการออฟฟิศซินโดรมนั่นเอง