โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ หรือ โรคภูมิแพ้ผิวหนัง เป็นโรคที่พบได้บ่อย และมีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากปัจจัยก่อให้เกิดโรคมีได้หลายสาเหตุ ทั้งจากสิ่งกระทบจากภายนอกและพันธุกรรม
โรคผิวหนังที่พบได้บ่อย มี 6 กลุ่มใหญ่ด้วยกัน ได้แก่
- โรคติดเชื้อต่าง ๆ เช่น โรคติดเชื้อไวรัส เชื้อรา แบคทีเรีย และ โรคจากปรสิต
- โรคผื่นแดง (Erythemas) ลมพิษ (Urticaria) และ ผื่นแพ้ยา (Drug eruptions)
- โรคภูมิคุ้มกันทำลายเนื้อเยื่อตัวเอง เช่น โรค SLE โรคพุพองกลุ่ม Bullous pemphigoid
- โรคสะเก็ด หรือผื่นแดงลอกขุย (Papulosquamous diseases) เช่น โรคสะเก็ดเงิน โรคผื่นขุยกุหลาบ
- โรคมะเร็งผิวหนัง (Skin malignancy)
- โรคผิวหนังอักเสบเอกซิมา โดยจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม
- Endogenous eczema คือโรคเอกซิมาที่เกิดจากปัจจัยภายใน
- Exogenous eczema คือ โรคเอกซิมาที่เกิดจากปัจจัยภายนอก
โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ หรือ ภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic eczema) คือ โรคผิวหนังในกลุ่มที่ 2 ซึ่งมีปัจจัยภายในเป็นส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดอาการโรคผิวหนังมากกว่าปัจจัยภายนอก
โดยความผิดปกติภายในมักจะมาจากพันธุกรรมที่ถ่ายทอดความผิดปกติมาไม่เหมือนกัน ทำให้ลักษณะและการออกอาการของผู้ป่วยแต่ละรายต่างกันไป อาจเกิดอาการเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือมีอาการตอนเด็ก ๆ แล้วค่อย ๆ หายไปเมื่อโตขึ้น หรือบางรายอาจไม่เคยมีอาการมาก่อน แล้วเพิ่งมาเป็นตอนอายุมากขึ้น
อาการโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้เป็นอย่างไร
- มีอาการคันผิวหนังได้ง่าย และมักจะเป็นมากในเวลากลางคืน
- มีผื่นแดงผิวหนังได้ง่าย
- ผิวหนังมีน้ำมันในชั้นหนังกำพร้าน้อยกว่าคนทั่วไป
- มักเป็นขุยลอกตามผิวหนัง
- มีผื่นแดงตามคันข้อพับ เช่น ข้อพับแขน ข้อพับขา ขาหนีบ รักแร้ ร่องก้น คอ
- มีผื่นหรือตุ่มคันตามแขน ขา 2 ข้าง หรืออาจเป็นข้างเดียว
- มีดวงหรือวงขาวบริเวณแก้ม แขน ขา หรือลำตัว ซึ่งอาจเป็นวงเดียวหรือหลายวง
- มีตุ่มนูนบริเวณรูขุมขนบริเวณแขน ขา
- ริมฝีปากแห้ง ลอกเป็นขุยบ่อย
- มีผื่นแดงลอกเป็นสะเก็ดตาม ฝ่ามือ ฝ่าเท้า นิ้วมือ นิ้วเท้า
- มีผื่นแดง หรือผื่นสีน้ำตาลตามบริเวณ ต้นคอ ศอก เข่า
นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้อาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีน้ำมูกไหล ไอ จาม เป็น ๆ หาย ๆ หรืออาจมีอาการหอบหืดร่วมด้วย ซึ่งอาการต่าง ๆ เหล่านี้ จะส่งผลต่อระบบจิตใจผู้ป่วย โดยเฉพาะอาการคัน ที่อาจทำให้ผู้ป่วยนอนไม่หลับ หงุดหงิด และอาจมีอาการน้ำเหลืองเสียจนทำให้คันทั่วตัว
การวินิจฉัยโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้
แพทย์ผิวหนังจะทำการตรวสอบจากอาการภายนอก ด้วยการตรวจร่างกาย ทดสอบการแพ้ทางผิวหนัง ตรวจร่างกาย ตัดชิ้นเนื้อตรวจ ยังต้องอาศัยการซักถามประวัติสมาชิกในครอบครัว ซึ่งมักจะทำให้พบข้อมูลว่า มีพ่อแม่ ปู่ ยา ตา ยาย หรือ น้า อา มีอาการโรคภูมิแพ้ชนิดใดชนิดหนึ่งอยู่ด้วย
การรักษาโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการรักษา ซึ่งอาจเป็นเดือน หรือเป็นปี ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย
การรักษาโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ด้วยตนเอง
การดูแลรักษาโรคผิวหนังอักเสบเบื้องต้นด้วยตนเอง ทำได้โดยการใช้สารความชุ่มชื้นให้กับผิวเป็นประจำ เพื่อไม่ให้ผิวแห้งเกินไป หลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่น และให้ผิวสัมผัสน้ำน้อยที่สุด นอกจากนี้ควรลดการระคายเคืองจากการสวมใส่เสื้อผ้าเนื้อหยาบ หรือผ้ารัดรูปเกินไป แต่ควรสวมใส่เสื้อผ้าเนื้อนุ่มสบาย รวมไปถึงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกับปัจจัยก่อให้เกิดโรค เพื่อให้โรคสงบหรือหายได้ในระยะยาว เช่น การออกกำลังกาย อาหาร การพักผ่อนให้เพียงพอ การดื่มน้ำ
ในขณะที่การรักษาจากทางการแพทย์ จะมีการประเมินความรุนแรงของโรค และจ่าย ยา Anti-histamine หรือ ยาแก้คัน โดยจะต้องทานยานี้ติดต่อกันจนไม่มีอาการคันติดต่อกัน 7 วัน จึงจะหยุดยานี้ได้ แต่ถ้าใครยังคงมีอาการคัน ให้ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นประคบ หรือใช้ครีมเพื่่มความชุ่มชื้นให้กับผิว จะช่วยลดอาการคันลงได้
กรณีผิวหนังอักเสบ เป็นรอยแดง เป็นขุย หรืแห้งลอก ให้ใช้ครีมสเตียรอยด์ระดับกลาง เพื่อช่วยบรรเทาอาการ แต่ถ้ากรณีผิวหนังอักเสบมาก รุนแรงจนมีน้ำเหลือง จำเป็นต้องใช้ยาสเตียรอยด์ และน้ำเกลือเข้มข้น 0.9% และควรเช็ดน้ำเหลือง อย่าปล่อยให้น้ำเหลืองไหลเยิ้มบนผิว เพราจะยิ่งทำให้คัน และมีตุ่มแดงกระจายมากขึ้น