ต้อนรับ วันกระดูกพรุนโลก World Osteoporosis Day วันที่ 20 ตุลาคม ของทุกปี ดังนั้นเราจึงนำบทความเกี่ยวกับโรคกระดูกพรุน รวมถึงภาวะที่อาจเสี่ยงต่อกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนได้ เพื่อที่จะได้สังเกตอาการของตนเอง ได้รู้ก่อน ตรวจก่อน และทำการรักษาได้ก่อน ช่วยหยุดยั้งอันตรายที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต
โรคกระดูกพรุนเกิดจากอะไร
โรคกระดูกพรุน คือ โรคกระดูกชนิดหนึ่ง ที่มวลกระดูกเริ่มน้อยลง จากการสูญเสียแคลแซียม และการสลายกระดูกเร็วกว่าการสร้างกระดูก โดยโรคกระดูกพรุนอาการจะไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด แต่มวลกระดูกที่น้อยลงทำให้ความแข็งแรงของกระดูกลดลงเช่นกัน จนอาจถึงขั้นวิกฤติที่ไม่สามารถรับน้ำหนัก หรือแรงกระทำต่าง ๆ ได้ ส่งผลให้กระดูกแตกหักได้ง่าย โดยเฉพาะเมื่อเกิดอุบัติเหตุ
รู้ได้อย่างไรว่าเข้าใกล้ภาวะกระดูกพรุน
ภาวะกระดูกพรุน (Osteoporosis) ไม่สามารถตรวจพบได้อย่างละเอียดด้วยการ X-Ray เท่านั้น แต่จะต้องเข้าทำการตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูก ด้วยการใช้เครื่องมือเฉพาะที่เรียกว่า BMD (Bone Mineral Density) หรือ เครื่อง DEXA scan โดยจะทำการตรวจ 2 ส่วนหลักของร่างกาย คือ กระดูกหลัง กับ กระดูกสะโพก เพราะกระดูกสองส่วนนี้มักได้รับบาดเจ็บรุนแรงในผู้สูงอายุเมื่อเกิดอุบัติเหตุ

ผู้ที่มีความเสี่ยงกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน ได้แก่
- ผู้หญิงที่หมดประจำเดือนก่อนอายุ 45 ปี
- ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน หรือเข้าสู่วัยทอง (อายุ 45 ปีขึ้นไป)
- ผู้หญิงที่เคยได้รับการผ่าตัดรังไข่ออกทั้ง 2 ข้างก่อนหมดประจำเดือน
- ผู้ที่ดื่มคาเฟอีนเป็นประจำ เช่น น้ำอัดลม ชา กาแฟ
- ผู้ที่สูบบุหรี่
- ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์
- รับประทานยากลุ่มเสตียรอยด์ หรือยากดฮอร์โมนเป็นเวลานาน
- บิดา หรือ มารดา มีประวัติเคยกระดูกสะโพกหัก
- มีโรคที่ทำใ้หมวลกระดูกลดลง เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคตับอักเสบ

โรคกระดูกพรุนรักษาหายไหม
ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคกระดูกพรุน อาการไม่บ่งบอกเด่นชัด แต่พอมีวิธีสังเกตได้ เช่น หลังโก่ง ตัวเตี้ยบง กระดูกสันหลังหัก เป็นต้น และใครที่รู้ว่าตัวเองน่าจะอยู่ในกลุ่มเสี่ยง หรือมีคนในครอบครัวเป็นโรคกระดูกพรุน ก็ควรจะไปปรึกษาแพทย์ และเพื่อได้รับการวินิจฉัย ซึ่งวิธีตรวจโรคกระดูกพรุนในปัจจุบันจะใช้เครื่อง DXA วัดมวลกระดูก โดยเครื่องนี้จะมีอยู่ในโรงพยาบาลใหญ่ ๆ ทั่วไป และอาจมีการเจาะเลือด ตรวจปัสสาวะ เพื่อแยกโรคร้ายแรงอื่นก่อนที่จะให้เข้าทำการรักษา
โรคกระดูกพรุนรักษาอย่างไร
ปัจจุบัน โรคกระดูกพรุน รักษาด้วยวิทยาการและยาใหม่ ๆ ที่สามารถป้องกันกระดูกหักได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยยากระตุ้นการสร้างกระดูก ยาต้านการสลายกระดูก ทั้งชนิดเม็ดรับประทาน ยาฉีดเข้าเส้น และฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ซึ่งผู้ป่วยจะต้องทานยาต่อเนื่องตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้โรคพัฒนามากขึ้น และควรรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม และควรออกกำลังกายที่ไม่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ด้วยการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นเสริมอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดี เช่น ปลาเล็กปลาน้อย ผักที่มีแคลเซียมสูง ออกรับแดดอ่อน ๆ ยามเช้าเพื่อรับวิตามินดี ออกกำลังกายที่เหมาะสมกับร่างกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มมวลกล้ามเนื้อให้แข็งแรง เลี่ยง น้ำอัดลม ชา กาแฟ และหมั่นตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูกเป็นประจำ เพื่อให้รู้เท่าทันในการรักษาและป้องกันโรคกระดูกพรุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
