ข้าวกล้อง คือ ข้าวที่ไม่ผ่านการขัดสี มีสารอาหารต่าง ๆ มากกว่าข้าวขัดขาว มีสีน้ำตาลอ่อน เนื่องจากในข้าวกล้องผ่านการกระเทาะเปลือกออกเท่านั้น ทำให้ยังมีจมูกข้าวและเยื่อหุ้มเมล็ดข้าว (รำข้าว) อยู่ครบถ้วน ข้าวกล้องจึงอุดมไปด้วยสารประโยชน์ที่สำคัญต่อร่างกาย ทั้ง คาร์โบไฮเดรต วิตามินบี วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 6 ซิลิเนียม แมงกานีส แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส ไทอามีน ไนอาซิน สังกะสี ธาตุเหล็ก โฟเลต และไฟเบอร์ ทำให้อิ่มท้อง ให้พลังงาน กระตุ้นการทำงานของลำไส้ ช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานมีประสิทธิภาพ แก้ปัญหาท้องผูก
ข้าวกล้องมีประโยชน์ยังไง
- ป้องกันโรคเหน็บชา ข้าวกล้องมีแร่ธาตุ วิตามินบี 1 ช่วยป้องกันโรคเหน็บชา และป้องกันไม่ให้เกิดอาการตะคริว
- ป้องกันโรคปากนกกระจอก เนื่องจากวิตามินบี 2 ในข้าวกล้อง ช่วยป้องกันโรคปากนกกระจอกได้
- ป้องกันโรคโลหิตจาง เพราะข้าวกล้องมีธาตุเหล็กสูง ช่วยป้องกันภาวะโลหิตจาง
- กระตุ้นการขับถ่ายให้เป็นปกติ เพราะข้าวกล้องมีไฟเบอร์สูง ซึ่งเป็นใยอาหารช่วยทำให้ระบบการขับถ่ายไหลลื่น
- ช่วยเสริมสร้างเหงือกและฟันให้เติบโตแข็งแรง เพราะข้าวกล้องมีฟอสฟอรัสสูงถึง 267 มิลลิกรัม / ข้าวกล้อง 100 กรัม และยังมีแคลเซียมสูง ช่วยบำรุงกระดูกให้แข็งแรง
- ป้องกันโรคหัวใจ เพราะโพแทสเซียมในข้าวกล้อง ช่วยกระตุ้นการเต้นของหัวใจ
- ช่วยบำรุงประสาท และป้องกันโรคผิวหนัง เนื่องจากข้าวกล้องมีไนอะซิน หรือวิตามินบี 3
- ช่วยต่อต้านเซลล์มะเร็ง ชะลอความแก่ เพราะสารซิลีเนียมในข้าวกล้อง
- ป้องกันโรคโลหิตจาง เพราะข้าวกล้องมีธาตุเหล็ก ดีต่อระบบการไหลเวียนโลหิต
- ป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เพราะข้าวกล้องมีสารฟีนอลิก เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งทวารหนัก
- ป้องกันอาการอ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ ด้วยวิตามินบี 1 และวิตามินบี 2 ในข้าวกล้องช่วยป้องกันอาการอ่อนเพลีย แขน – ขาอ่อนแรง เบื่ออาหาร หอบและเหนื่อยง่าย
- ป้องกันโรคผิวหนังบางชนิด เพราะไนอาซินในข้าวกล้องช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทและผิวหนัง จึงช่วยป้องกันอาการประสาทไว และโรคผิวหนังบางชนิดได้ เช่น โรคหนังกระ อาการคันผิวหนัง เป็นต้น
- ป้องกันต้อกระจก เพราะในข้าวกล้องมีลูทีน และ เบต้าแคโรทีน ช่วยบำรุงและรักษาสายตา เหมาะอย่างยิ่งกับผู้ที่ต้องใช้สายตาทำงานหนัก หรือใช้สายตาเป็นระยะเวลานาน ๆ
ข้าวกล้องกินทุกวันดีไหม และใครควรระวังในการกินข้าวกล้องบ้าง
ข้าวกล้องอุดมไปด้วยเส้นใยอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุ สามารถทานได้ทุกวัน แต่ควรรระวังในผู้ป่วยโรคไต และผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ต้องกินยาบางชนิด รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ และผู้ป่วยโรคเกาต์ เนื่องจากข้าวกล้องมีสารยูริก และฟอสฟอรัสสูง ทานแล้วอาจเกิดอาการอักเสบ หรือผลข้างเคียงได้ ควรต้องปรึกษาแพทย์ก่อน
ทำไมผู้ป่วยเบาหวาน หรือผู้ที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดควรเลือกกินข้าวกล้อง
ลดน้ำตาลในเลือดได้ เนื่องจากข้าวกล้องมีใยอาหารสูง มีดัชนีน้ำตาล (Glycemic Index) ต่ำกว่าข้าวขาว ทำให้ข้าวกล้องช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด หรือชะลอการเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดได้ ข้าวกล้องจึงถือว่าเป็นอาหารทางเลือกที่ดีต่อผู้ป่วยเบาหวาน หรือผู้ที่ต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และยังเหมาะต่อทุกเพศทุกวัย
วิธีหุงข้าวกล้องให้อร่อย
- ใช้อัตราข้าว 1 ส่วน และ น้ำ 3 ส่วน
- แช่ข้าวกล้องในน้ำสะอาดทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที ช่วยให้ข้าวกล้องนุ่มน่าทานมากขึ้น
- บีบมะนาวหรือใส่น้ำส้มสายชูเล็กน้อยก่อนหุงข้าว ช่วยให้ข้าวกล้องนุ่มฟูขึ้นหม้อ
- เมื่อข้าวสุกแล้ว ควรปล่อยให้ข้าวระอุอยู่ในหม้อประมาณ 10 นาที ช่วยให้ข้าวนุ่มและมีกลิ่นหอมน่าทานมากขึ้น
- สำหรับผู้หัดกินข้าวกล้อง อาจผสมข้าวขาวกับข้าวกล้องในอัตราส่วน 1 ต่อ 4 เพื่อเพิ่มความนุ่มให้กับข้าวกล้องมากขึ้น และเมื่อเริ่มชินกับรสข้าวกล้อง ค่อยกินข้าวกล้องแบบ 100%
จากที่ได้รู้กันไปแล้วว่าข้าวกล้องมีประโยชน์อย่างไร จึงกลายเป็นพระพระกระยาหารโปรดของในหลวง รัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งเคยได้ดำรัสเกี่ยวกับข้าวกล้องไว้เมื่อ พ.ศ. 2541 ไว้ดังนี้
“ข้าวกล้องหรือข้าวซ้อมมือ คือ ข้าวที่เรากินทุกวัน มีประโยชน์ ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ข้าวขาวเอาของดีออกไปหมด ข้าวกล้องนี้ดี คนบอกว่ากินข้าวกล้องนั้นเป็นคนจน เราก็เป็นคนจน”