อาหารเป็นพิษ ภาษาอังกฤษ เรียกว่า Food Poisoning หรือ ท้องร่วง จะมีอาการรุนแรงและเป็นอันตรายมากกว่าอาการท้องเสียทั่วไป สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ส่วนใหญ่จะเกิดอาการฉับพลัน และเจ็บป่วยได้ทุกฤดูกาล แต่มักจะระบาดในช่วงหน้าร้อนมากที่สุด เพราะสภาพอากาศร้อนทำให้อาหารเกิดจุลินทรีย์และเน่าเสียง่าย ก่อให้เกิดสารพิษ หรือเชื้อโรคต่าง ๆ ปนเปื้อน
อาหารเป็นพิษเกิดจากอะไร
สาเหตุอาหารเป็นพิษเกิดจากการรับประทานอาหาร หรือ ดื่มน้ำที่มีเชื้อโรค สารเคมี หรือมีสารพิษปนเปื้อน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเกิดจากเชื้อโรคชนิด S.aureus , B.cereus , C. perfringens หรือ Salmonella spp โดยเชื้อโรคเหล่านี้จะไปก่อให้เกิดสารพิษที่เรียกว่า enterotoxin (มีคุณสมบัติทนต่อความร้อนได้ดี) ออกฤทธิ์ต่อระบบอาหารและลำไส้ ทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษ
อาการอาหารเป็นพิษ
อาการของผู้ป่วยอาหารเป็นพิษ เวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายบ่อยมากกว่า 3 ครั้ง ถ่ายอุจจาระเหลว ถ่ายเป็นน้ำ หรือถ่ายเป็นมูกเลือด มีไข้ คอแห้ง กระหายน้ำ อ่อนเพลีย บางรายเมื่อเกิดอาหารเป็นพิษหนาวสั่น มีไข้ และอาจหมดสติเนื่องจากเสียน้ำและเกลือแร่มาก หากเชื้อโรคเข้าสู่กระแสเลือด อาการจะรุนแรงขึ้นและอาจอันตรายถึงชีวิตได้
เมื่อมีอาการอาหารเป็นพิษแก้ยังไงดี
เมื่อเกิดอาการอาหารเป็นพิษ รักษาเบื้องต้นด้วยการดื่มน้ำเกลือแร่ (ORS) โดยจิบทีละน้อย ๆ จิบบ่อย ๆ จนครบหมดแก้ว เพื่อป้องกันภาวะการขาดน้ำและเกลือแร่ แต่อย่าดื่มรวดเดียวหรือดื่มมากเกินไป เพราะอาจทำให้อาเจียนได้ บางรายที่มีอาการอาหารเป็นพิษพะอืดพะอมมาก ๆ อาจตามด้วยยาแก้คลื่นไส้ (ถ้ามี) ควรดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ และจิบน้ำบ่อย ๆ พักผ่อนเยอะ ๆ หากอาการไม่ดีขึ้นภายน 48 ชั่วโมง หรือมีอาการท้องร่วงรุนแรง ถ่ายเป็นมูก ขาดน้ำมาก ชีพจรเต้นเร็ว หายใจลำบาก อ่อนแรงจนหมดสติ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
ผู้ป่วยอาหารเป็นพิษ ควรกินอะไรดี
อาหารปรุงสุก โดยเฉพาะอาหารปรุงสุกใหม่ อาหารอ่อน ๆ อาหารรสจืด อาหารย่อยง่าย เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ต้มจืด ผักต้ม กล้วยน้ำว้า มะพร้าว ขนมปัง เป็นต้น
ผู้ป่วยอาหารเป็นพิษ ห้ามกินอะไร
งดอาหารรสจัด รสเผ็ด รสเปรี้ยว งดอาหารย่อยยาก ของทอด อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ อาหารหมักดอง อาหารที่เก็บค้างวัน อาหารไขมันสูง เครื่องดื่มคาเฟอีนทุกชนิด เครื่องดื่มชูกำลัง และ แอลกอฮอล์ เช่น นม เนย ชีส ผลไม้ โยเกิร์ต ชา กาแฟ น้ำอัดลม เหล้า เบียร์ และ งดสูบบุหรี่
โรคอาหารเป็นพิษ ป้องกันยังไงได้บ้าง
วิธีป้องกันอาการอาหารเป็นพิษสามารถทำได้โดย ดูแลสุขอนามัยด้วยการหมั่นล้างมือให้สะอาด กินอาหารผ่านการปรุงสุกใหม่ ใช้ช้อนกลาง ดื่มน้ำสะอาดหรือน้ำต้มสุก หลีกเลี่ยงรับประทานอาหารค้างคืน โดยเฉพาะอาหารที่ผสมกะทิ เพราะบูดเสียง่าย เก็บอาหารให้ปลอดภัยจากมด หนู และแมลงต่าง ๆ ล้างผัก –
ผลไม้ด้วยการแช่ด่างทับทิม ห้ามเก็บอาหารปรุงสุกไว้ที่เดียวกับอาหารสดดิบ เพราะจะทำให้เกิดการปนเปื้อนของเชื้อโรค และไม่ควรเก็บเนื้อสดดิบไว้นอกตู้เย็น เพราะอาจทำให้เกิดเชื้อแบคทีเรียในชิ้นเนื้อสดนั้นได้
อย่างไรก็ตาม การป้องกันไม่ให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษในเบื้องต้น คือ การดูแลรักษาสุขอนามัย และความสะอาดของอาหารที่จะรับประทาน รวมไปถึงความสะอาดของอุปกรณ์ที่ใช้ และการหมั่นล้างมือของเราทั้งก่อนรับประทานอาหาร และหลังจากเข้าห้องน้ำ แต่ถ้ามีอาหารที่กินไม่หมดและแบ่งเก็บไว้ทานมื้อต่อไป ก็ควรนำอาหารนั้นไปอุ่นร้อนก่อนรับประทานเพื่อเป็นการฆ่าเชื้อโรคเสียก่อน