มีใครเคยสงสัยบ้างไหมว่าภาวะหัวใจล้มเหลวคืออะไร อันตรายมากน้อยแค่ไหนกับผู้ป่วย วันนี้เราจะมาหาคำตอบและทำความรู้จักกับโรคอันตรายที่ทำให้เสียชีวิตโดยฉับพลันนี้กันค่ะ
หลายคนอาจเข้าใจว่า ภาวะหัวใจล้มเหลว และ ภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน นั้นคือโรคเดียวกัน แต่ทีจริงนั้นแตกต่างกันค่ะ โดย ภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นภาวะเรื้อรัง ในขณะที่ ภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันเป็นภาวะจากหลอดเลือดแดงอุดตันจนเป็นเหตุให้เลือดไปเลี้ยงส่วนตัวต่าง ๆ ในร่างกายไม่ทั่วถึง ซึ่งเกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันที
ภาวะหัวใจล้มเหลวมักจะเกิดขึ้นในระยะสุดท้ายของโรคเกี่ยวกับระบบหัวใจ โดยมีสาเหตุเกิดขึ้นได้หลายปัจจัยด้วยกัน ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเกิดจากโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด โรคความดันโลหิตสูง โรคลิ้นหัวใจรั่ว โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เป็นต้น นอกจากนี้ยังเกิดจากการถูกกระตุ้นด้วยปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น สภาพอากาศ และ พฤติกรรม เช่น การทานเค็ม พักผ่อนน้อย สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ใช้สารเสพติด รวมไปถึงการรับประทานยาบางชนิดที่มีผลไปกดระบบการทำงานของหัวใจ

ภาวะหัวใจล้มเหลวมีกี่ชนิด
ภาวะหัวใจล้มเหลว มี 2 ชนิดด้วยกัน ได้แก่
- หัวใจห้องขวาล้มเหลว หรือ Right-side heart failure คือ หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปฟอกที่ปอดได้ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการบวมที่เท้า
- หัวใจห้องซ้ายล้มเหลว หรือ Left-side heart failure คือ หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงได้ทั่วร่างกาย ส่งผลให้มีเลือดคั่งในปอด จนกลายเป็นน้ำท่วมปอด และมีอาการบวมที่เท้า

ใครบ้างที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว
- ผู้สูงอายุ
- ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ
- มีภาวะอ้วน
- พักผ่อนไม่เพียงพอ
- ขาดการออกกำลังกาย
- มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น

หัวใจล้มเหลวมีอาการยังไง
- หายใจเหนื่อย หายใจลำบากเมื่อนอนราบ รู้สึกเหนื่อยเมื่อต้องออกแรง ตื่นกลางดึกเพราะหายใจไม่สะดวก หรือมีอาการไอ ซึ่งมีสาเหตุมาจากน้ำท่วมปอด
- อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ เมื่อเลือดส่งไปเลี้ยงร่างกายไม่พอหรือน้อยลง ทำให้ไม่มีกำลังหรือหมดแรงง่าย และรู้สึกอ่อนเพลีย หน้ามืด เวียนศีรษะเพราะเลือดไปเลี้ยงไม่พอ
- มีอาการบวมที่ข้อเท้า หรือเท้าบวม ซึ่งเกิดจากการคั่งของน้ำและเกลือ ทำให้มีอาการบวมบริเวณที่ข้อเท้า เท้าบวม กดแล้วบุ๋ม หรืออาจมีน้ำคั่งในอวัยวะภายในอื่น ๆ เช่น ท้องบวม ตับโต หรือม้ามโต

ภาวะหัวใจล้มเหลวมีวิธีรักษาอย่างไรบ้าง
- ใช้ยา แพทย์จะทำการวินิจฉัยและจัดยาให้กับผู้ป่วย เพื่อให้ยาไปกระตุ้นการบีบตัวของหัวใจ และชะลอการเสื่อมของหัวใจ ป้องกันไม่ให้หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน
- ใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจ โดยแพทย์จะทำการใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจ เพื่อเป็นการลดภาระในการบีบตัวของหัวใจ ไม่ให้หัวใจทำงานหนักเกินไป และยังช่วยเพิ่มอัตราการบีบตัวของหัวใจให้สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่าง ๆ ได้อย่างทั่วถึง
- ผ่าตัด แพทย์จะเลือกวิธีการผ่านตัดในกรณีที่เกิดหลอดเลือดหัวใจตีบ โดยจะทำการผ่าตัดต่อหลอดเลือดหัวใจ หรือในกรณีที่หัวใจถูกทำลายจนไม่สามารถทำงานได้ปกติ แพทย์จะทำการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจให้ใหม่
- การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เนื่องจากภาวะหัวใจล้มเหลวมีสาเหตุหลายปัจจัย และหนึ่งในปัจจัยทั้งหมดมาจากพฤติกรรมด้วยเช่นกัน จึงควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว เช่น การพักผ่อนให้เพียงพอ งดหรือเลิกสูบบุหรี่ งดหรือหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ ลดทานอาหารรสเค็ม ทานอาหารที่มีประโยชน์และเหมาะสมกับวัย หมั่นออกกำลังกาย และตรวจสุขภาพประจำปี