การวิ่งถือเป็นกิจกรรมยอดฮิตสำหรับใครหลายๆ คน ที่นอกจากจะได้ความแข็งแรงทางด้านร่างกายแล้ว ยังทำให้สมองกระฉับกระเฉงอีกด้วย อีกทั้งการวิ่งยังไม่ต้องใช้อุปกรณ์อะไรให้มากมาย เพียงแค่สวมรองเท้าคู่ใจก็สามารถออกไปวิ่งได้แล้ว แต่ปัญหาก็คือ หากรองเท้าคู่ใจที่ว่าไม่รองรับการวิ่ง อาจจะส่งผลกระทบต่อร่างกายเราได้เลย
แล้วเราจะเลือกซื้อรองเท้าวิ่งอย่างไรให้ได้รองเท้าที่ดีและเหมาะกับตนเอง เรามีวิธีเลือกซื้อรองเท้าวิ่งมาฝากในบทความนี้แล้ว
ก่อนอื่นเรามารู้จักส่วนประกอบหลักของรองเท้าวิ่งกันก่อน รองเท้าวิ่งนั้นประกอบไปด้วยหลายส่วน การเลือกรองเท้าสักคู่ นอกจากจะต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์ในการใช้งานแล้ว ยังต้องดูในส่วนประกอบต่างๆต่อไปนี้ด้วย
- พื้นรองเท้าชั้นนอก (Outsole) เป็นส่วนของพื้นรองเท้าด้านล่างที่ใช้สัมผัสกับพื้น
- พื้นรองเท้า (Insole) ซึ่งเป็นส่วนของพื้นรองเท้าที่สัมผัสกับเท้า
- พื้นรองเท้าชั้นกลาง (Midsole) เป็นส่วนของรองเท้าที่อยู่กึ่งกลางระหว่าง Outsole และ Insole
เมื่อจะทำการเลือกซื้อรองเท้าวิ่ง ให้เน้นพิจารณาส่วนของ Midsole เป็นพิเศษ เพราะตรงพื้นรองเท้าชั้นกลาง เป็นส่วนที่ช่วยควบคุมการทรงตัว ลดแรงกระแทก และป้องกันอาการบาดเจ็บจากการวิ่ง โดยรองเท้าวิ่งหรือรองเท้ากีฬาแต่ละยี่ห้อจะใช้วัสดุในการผลิตที่แตกต่างกัน เช่น เอทิลีนไวนิลอะซีเตด (Ethylene Vinyl Acetate / EVA) โพลิยูรีเทนโฟม (Polyurethane) หรือ แอร์ยูนิต (Air Unit) เป็นต้น ทำให้รองเท้าแต่ยี่ห้อหรือแต่ละคู่มีคุณสมบัติที่ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติพิเศษของวัสดุที่ใช้ประกอบ อย่างโพลิยูรีเทนและแอร์ยูนิต จะช่วยให้รองเท้าคงสภาพ และรองรับแรงกระแทกได้ดีกว่าเอทิลีนไวนิลอะซีเตด เมื่อต้องวิ่งในสภาพแวดล้อมที่มีอากาศร้อน
วิธีเลือกรองเท้าวิ่ง
ลักษณะการวิ่ง
อันดับแรกเลยคือต้องรู้ลักษณะการวิ่งของตนเองเสียก่อน จะได้รู้ว่าต้องเลือกรองเท้าแบบไหนเหมาะกับการวิ่งสไตล์ของเรา วิ่งแบบลงปลายเท้า หรือวิ่งแบบลงส้นเท้า หากเป็นคนที่วิ่งแบบลงปลายเท้า ควรเลือกรองเท้าที่มีการเสริมแผ่นไว้ด้านหน้า แต่ถ้าหากเป็นคนที่วิ่งด้วยการใช้ส้นเท้าลง ก็ควรเลือกรองเท้าที่มีแผ่นเสริมบริเวณส้นเท้าเพื่อรองรับแรงกระแทก
ประเภทการวิ่ง
ควรเลือกรองเท้าที่เหมาะกับการวิ่งในแต่ละประเภท เช่น วิ่งเพื่อสุขภาพ วิ่งในสวนพื้นราบเรียบ วิ่งบนพื้นยางมะตอย วิ่งขึ้นเนิน วิ่งระยะใกล้ วิ่งระยะไกล วิ่งแข่งมาราธอน เป็นต้น โดยสามารถแจ้งกับพนักงานขายว่าต้องการรองเท้าสำหรับวิ่งแบบไหน เพื่อให้ได้รองเท้าวิ่งที่เหมาะสมกับการใช้งานมากที่สุด
ลักษณะอุ้งเท้า
เนื่องจากเท้าแต่ละคนจะมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป บางคนอาจมีเท้าเล็ก บางคนมีอุ้งเท้าแบน และอุ้งเท้าแต่ละคนก็ต้องเลือกรองเท้าให้เหมาะสม ซึ่งมีแตกต่างกันออกไป
- ฝ่าเท้าปกติ มีลักษณะอุ้งเท้าไม่แบนหรือสูงเกินไป เวลาวิ่ง เท้าจะอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะต่อการรับน้ำหนัก และแรงกระแทกจากการวิ่งได้ดี วิธีเลือกรองเท้าผ้าใบหรือรองเท้าวิ่งสำหรับฝ่าเท้าปกติ ให้เลือกรองเท้าแบบ Stability เพื่อให้ช่วยพยุงเท้า ไม่ให้มีการโอนเอนไปมาระหว่างวิ่ง
- ฝ่าเท้าแบน จะไม่มีอุ้งเท้า แต่เท้าจะแบนราบติดกับพื้น มีวงโค้งตรงกลางฝ่าเท้าค่อนข้างน้อย ทำให้เวลาวิ่ง มีการหมุนของข้อเท้าจากข้างนอกเข้าด้านในมากเกินไป อาจส่งผลให้ข้อเท้ากับเอ็นร้อยหวายเกิดการบาดเจ็บได้ คนที่มีลักษณะฝ่าเท้าแบน ควรเลือกรองเท้าแบบ Motion Control เพื่อช่วยควบคุมการเคลื่อนไหวของเท้าให้ง่ายขึ้น
- ฝ่าเท้าสูงหรืออุ้งเท้าโก่ง มีลักษณะอุ้งเท้าโค้งเข้าเยอะ ฝ่าเท้าค่อนข้างโก่ง ทำให้ข้อเท้าบิดไปด้านในมากกว่าปกติในเวลาวิ่ง ส่งผลให้แรงกระแทกขณะวิ่งไปลงที่หัวเข่า ขา และสะโพก จนเกิดอาการบาดเจ็บ จึงควรเลือกรองเท้าแบบ Cushion เพื่อให้เกิดการบิดเท้าเข้าข้างใน และลดแรงกระแทก
เลือกรองเท้าที่มีขนาดพอดีกับเท้า
การเลือกไซส์รองเท้าวิ่ง จะต้องมีขนาดที่เหมาะสมกับเท้า โดยไม่มีการบีบรัดเท้าเกินไป สวมใส่ได้พอดีทั้งด้านหน้านและด้านหลัง มีความกว้างของเท้าที่สามารถแตะขอบรองเท้าได้พอดี และควรวัดขนาดเท้าก่อนที่จะทำการเลือกซื้อรองเท้ากีฬา เพราะขนาดเท้ามีการเปลี่ยนแปลงไปตามแต่ละช่วงวัย หรือแม้แต่ช่วงเวลา นอกจากนี้รูปเท้าเองก็อาจมีการเปลี่ยนไปได้เช่นกัน ดังนั้นหากวัดเท้ารอบใหม่แล้วพบว่าอุ้งเท้าของตนแบนลง อาจต้องเปลี่ยนรองเท้า โดยใช้วิธีเลือกรองเท้าที่เสริมแผ่นรองเท้าเพื่อช่วยลดแรงกระแทกขณะวิ่ง ซึ่งรองเท้าแต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้ออาจมีขนาดรองเท้าที่แตกต่างกัน แม้จะระบุไว้ว่าไซส์เดียวกัน จึงควรตรวจสอบขนาดรองเท้าให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อเสมอ
ช่วงเวลาก็มีผลต่อขนาดเท้า
ขนาดของเท้าอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ในแต่ละช่วงเวลาของวันเดียวกัน โดยในเวลากลางวันและขณะวิ่งเท้าอาจจะขยายใหญ่ขึ้น แต่ในเวลาช่วงเย็นไปแล้ว เท้าอาจจะขยายใหญ่มากกว่าตอนกลางวัน ดังนั้นจึงควรทำการเลือกรองเท้าวิ่งในตอนเย็น เพราะเป็นวิธีเลือกรองเท้าวิ่งที่จะได้ขนาดพอดี และสวมสบายในตอนวิ่งมากกว่าเลือกซื้อตอนกลางวัน
ลองสวมรองเท้าก่อนซื้อ
เพราะรองเท้ามีหลายลักษณะและคุณสมบัติพิเศษมากมายให้เลือก แต่ก่อนจะตัดสินใจซื้อ อย่าซื้อเพียงเพราะคนขายแนะนำ หรือเพียงแค่เห็นแล้วชอบเท่านั้น แต่ควรทำการลองสวมรองเท้า ทดสอบเดิน และวิ่งดูหลายๆคู่ เพื่อที่จะได้ทำการเปรียบเทียบ โดยให้เลือกคู่ที่สวมแล้วมีขนาดพอดี ใส่สบาย เดินแล้วนิ้วเท้าไม่ชนขอบรองเท้า ไม่อึดอัด คับหรือหลวมในขณะที่ลองเดิน รวมไปถึงลองวิ่งแล้วก็ยังสบาย ไม่มีการบีบรัดของรองเท้าขณะวิ่ง
นำรองเท้าคู่เก่าไปเทียบ
สำหรับบางคนที่ต้องเปลี่ยนรองเท้าคู่ใหม่ เพราะรองเท้าคู่ใจคู่เดิมมันเกินเยียวยา และต้องการรองเท้าวิ่งที่มีลักษณะและคุณสมบัติที่เหมือนคู่เก่า ก็ควรนำรองเท้าคู่เดิมไปด้วย เพื่อที่จะเป็นตัวอย่างให้คนขายได้รู้ลักษณะของรองเท้าที่ต้องการ และสามารถแนะนำรองเท้าวิ่งที่ตอบโจทย์ได้อย่างเหมาะสม
จะรู้ได้อย่างไรว่าถึงเวลาต้องเปลี่ยนรองเท้าวิ่งคู่ใหม่
รองเท้าวิ่งที่เสื่อมสภาพ อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ในขณะวิ่ง ไม่ว่าจะเป็นอาการข้อเข่าอักเสบ ปวดหน้าแข้ง บริเวณหน้าขาส่วนล่าง หรืออาจทำให้เกิดเท้าพลิกเท้าแพลงได้ง่าย เพราะประสิทธิภาพการทรงตัวของรองเท้าลดลง
Dr. Suzanne Levine แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคเท้าในนิวยอร์กซิตี้แนะนำว่า ควรทำการเปลี่ยนรองเท้าวิ่งทุกๆ 6 เดือน เพราะเป็นระยะเวลาที่คุณสมบัติของแผ่นรองรับแรงกระแทกหมดประสิทธิภาพ หากยังใช้งานต่อไป อาจเสี่ยงต่อการได้รับบาดเจ็บได้ เช่น เอ็นฝ่าเท้าอักเสบ ข้อเท้าเคล็ด ปวดเข่า เจ็บหน้าหน้าแข้ง หรือมีอาการปวดสะโพก
แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะต้องเปลี่ยนรองเท้าวิ่งคู่ใหม่ทุกๆ 6 เดือนเสมอไป เพราะต้องขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งานของแต่ละบุคคล ไม่ว่าจะประเภทการวิ่ง ความถี่ในการสวมใส่วิ่ง อย่างบางคนอาจใช้มีรองเท้าหลายคู่ ไว้ใส่สลับวิ่งในแต่ละครั้ง หรือนักวิ่งมาราธอนก็อาจจะต้องเปลี่ยนรองเท้าวิ่งเร็วกว่าคนที่วิ่งเพียงไม่กี่ครั้งต่อเดือน ดังนั้นวิธีเลือกรองเท้าผ้าใบหรือรองเท้าวิ่งคู่ใหม่ สามารถใช้ระยะทางเป็นหลักเกณฑ์ คือเมื่อใช้งานรองเท้าทุกๆ 300 – 500 ไมล์ (ประมาณ 644 – 805 กม.) โดยบางคนก็อาจมีการจดบันทึก หรือใช้แอปพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือเพื่อเก็บระยะทางการวิ่ง ทำให้รู้ระยะทางการใช้งานรองเท้า และเวลาที่ต้องเปลี่ยนคู่ใหม่ แม้ว่ารองเท้าจะยังมีสภาพที่ยังดูดีก็ตาม
แต่ในขณะเดียวกัน ถึงแม้ว่ารองเท้าวิ่งจะยังใช้ไม่ถึง 6 เดือน หรือใส่วิ่งไม่ถึง 300 ไมล์ แต่ส่วนประกอบรองเท้ามีสภาพทรุดโทรม ขาด ชำรุด ไมว่าจะเป็นในส่วนพื้นรองเท้า ตัวรองเท้า และส่วนอื่นๆก็ตาม ก็ควรทำการเลือกซื้อรองเท้ากีฬาคู่ใหม่ อย่าเสียดายหรือพยายามทำการซ่อมแซมด้วยตนเอง เพราะไม่คุ้มกับอาการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นได้จากรองเท้าที่เสื่อมสภาพ และถ้าหากไม่แน่ใจว่าใส่รองเท้าวิ่งไปกี่ไมล์แล้ว หรือควรต้องเปลี่ยนรองเท้าวิ่งคู่ใหม่หรือยัง ให้ทดสอบประสิทธิภาพรองเท้าวิ่งด้วยวิธีต่อไปนี้
- ทดสอบพื้นรองเท้าชั้นกลาง โดยการใช้นิ้วหัวแม่มือกดลงไปตรงกลางรองเท้า ตรงกับพื้นรองเท้าชั้นกลาง หากบริเวณนั้นมีความแข็ง ไม่มีความยืดหยุ่น เป็นสัญญาณว่าถึงเวลาเปลี่ยนรองเท้าวิ่งคู่ใหม่แล้ว
- ทดสอบการเด้งกลับของรองเท้า โดยการปล่อยรองเท้าข้างหนึ่งลงบนพื้นแข็งๆ ด้วยความสูงที่ห่างจากพื้นไม่กี่นิ้ว หลังจากที่รองเท้าตกพื้นแล้วมีการโยกไป-มานานกว่าครึ่งวินาที แสดงว่าการกันกระแทกของรองเท้าได้เสื่อมประสิทธิภาพแล้ว
- ดอกยางพื้นรองเท้าหลุด ทรุดโทรม อย่างเห็นได้ชัด ให้รีบเปลี่ยนทันที เพราะเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ หรือลื่นล้มได้ในขณะสวมใส่วิ่งหรือแม้แต่เดินก็ตาม
และถ้าหากว่ามีอาการปวดหัวเข่า บาดเจ็บที่หน้าแข้ง ข้อต่อขา เจ็บสะโพก โดยที่คุณไม่ได้มีการเปลี่ยนแผนการวิ่ง หรือที่อาจไม่ได้เกิดจากโรคภัยไข้เจ็บอื่น นั่นก็เป็นอีกสัญญาณเตือนว่า คุณควรเปลี่ยนรองเท้าวิ่งคู่ใหม่ได้แล้ว
วิธีการดูแลรักษารองเท้าวิ่ง
หากต้องการให้รองเท้าวิ่งคู่ใจมีสภาพดี และมีอายุการใช้งานไปนานๆ สามารถช่วยยืดอายุรองเท้าได้ด้วยการดูแลรองเท้าวิ่งอยู่เสมอ ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
- ห้ามถอดรองเท้าด้วยการเหยียบส้น เพราะจะทำให้ส้นรองเท้าเสียหาย แต่ควรถอดรองเท้าด้วยการแก้เชือกรองเท้าออก
- ควรมีรองเท้าวิ่งมากกว่า 1 คู่ เพื่อไว้ใช้สลับกัน แต่ถ้าหากมีรองเท้าวิ่งคู่เดียว ควรถอดรองเท้าวิ่งทิ้งไว้อย่างน้อย 1 วัน หรือ 24 ชั่วโมงขึ้นไป เพื่อให้รองเท้ามีการคลายตัว และช่วยในส่วนที่รองรับการกระแทกของรองเท้าฟื้นตัวสู่สภาพเดิม ก่อนใช้งานในรอบต่อไป
- ไม่ควรวิ่งในขณะที่รองเท้าเปียก เพราะประสิทธิภาพการรองรับแรงกระแทกของพื้นรองเท้าชั้นกลาง หรือ Midsole ลดน้อยลง 40-50 %
- ใส่รองเท้าใช้งานให้ถูกประเภท ควรใส่รองเท้าวิ่งเพื่อสำหรับวิ่งเท่านั้น ไม่ควรใส่รองเท้าวิ่งไปเล่นกีฬาชนิดอื่น เพราะส่วนในการรองรับกระแทกของรองเท้าวิ่งอาจสึกหรอหรือเสื่อมได้ เนื่องจากรองเท้าวิ่ง ถูกผลิตออกมาเพื่อสำหรับใช้ในการวิ่ง จึงมีการคำนวณ และเลือกใช้วัสดุที่รองรับแรงกระแทกจากการวิ่งเท่านั้น
รองเท้าวิ่งควรมีกี่คู่
จำนวนรองเท้าวิ่งที่ควรจะมี ขึ้นอยู่กับประเภท และความถี่การใช้งาน หากเป็นนักวิ่งอาชีพ ที่ต้องมีการฝึกซ้อมสม่ำเสมอ ใช้งานรองเท้าบ่อยๆ และต่างสภาพพื้น ก็จำเป็นต้องมีรองเท้าวิ่งมากกว่า 3 คู่ขึ้นไป ไว้สลับสับเปลี่ยนในการใช้งานในแต่ละครั้ง แต่ถ้าเป็นการวิ่งเพื่อสุขภาพทั่วไป ก็อาจมีรองเท้าวิ่งไว้สลับการใช้งาน 2 คู่ก็พอ หรืออาจจะมากกว่านั้น ก็แล้วแต่ความพึงพอใจ
เหตุผลที่ควรมีรองเท้าวิ่งมากกว่า 1 คู่ นั่นเพราะอย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า รองเท้าแต่ละคู่มักจะมีอายุการใช้งานหลังจากใช้งาน ประมาณ 300 – 500 ไมล์ ดังนั้นเพื่อเป็นการยืดอายุการใช้งานรองเท้า อีกทั้งช่วยรักษาสภาพรองเท้า ไม่ให้เสื่อมหรือชำรุดเร็วเกินไป และอาจจะมีไว้เพื่อใช้งานให้เหมาะกับประเภทการวิ่ง หรือสภาพพื้นที่ในแต่ละแห่ง เช่น รองเท้าสำหรับวิ่งระยะใกล้ รองเท้าสำหรับวิ่งมาราธอน รองเท้าวิ่งบนพื้นราบ หรือต้องการเปลี่ยนสถานที่ไปวิ่งขึ้นเนิน ก็จะได้มีรองเท้าวิ่งคู่ใจที่สามารถตอบโจทย์ในกิจกรรมที่คุณรักได้อย่างเหมาะสม และมีอายุการใช้งานได้อย่างยาวนาน