ปัจจุบันนี้มีคนเป็นภูมิแพ้กันมากขึ้นและใช้ “ยาภูมิแพ้” หรือ “ยาแก้แพ้” กันมากขึ้น ใช้กันตั้งแต่ การรักษาอาการแพ้อากาศ ภูมิแพ้หลอดลม ภูมิแพ้จมูก มีอาการผื่น คันผิวหนัง มีอาการวิงเวียน เมารถ ฯลฯ ใช้กันในวงกว้าง และหาซื้อยาแก้แพ้ได้ง่าย จนแทบจะเป็นยาสามัญประจำบ้าน แม้จะยังไม่ได้ถูกจัดให้เป็นทางการก็ตาม
บทความนี้เราจะกล่าวถึงกลุ่มยาภูมิแพ้ที่กินแล้วง่วง กับกลุ่มยาภูมิแพ้ที่กินแล้วไม่ง่วง ว่าต่างกันอย่างไร ตัวอย่างของยาทั้งสองกลุ่ม แล้วสามารถกินยาภูมิแพ้ร่วมกับยาทางจิตเวช หรือยานอนหลับได้ไหม ยาภูมิแพ้มีผลข้างเคียงไหม ใช้ยาภูมิแพ้แทนยานอนหลับได้ไหม และยา Antihistamine มีอะไรบ้าง
อาการแพ้เกิดจากอะไร
อาการแพ้เกิดขึ้นเมื่อร่างกายได้รับสิ่งแปลกปลอม ไปกระตุ้นให้เซลล์ในร่างกายหลั่งสารฮีสตามีนภูมิแพ้ จนเกิดการอักเสบบริเวณนั้นๆ หรือกระจายทั่วตัว มีอาการคัน บวม แดง หายใจลำบาก ถ้าเป็นที่จมูก ก็จะทำให้คันจมูก มีน้ำมูกไหล หรือน้ำมูกไหลลงคอ คันตา คันหู ซึ่งอาการต่างๆเหล่านี้ก่อให้เกิดความรำคาญ และอาจเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวัน จึงต้องแก้ด้วยการใช้ยาต้านภูมิแพ้ แอนตี้ฮีสตามีน (Antihistamine) ที่เราเรียกว่ายาภูมิแพ้ หรือยาแก้แพ้นั่นเอง
หน้าที่ของยาแก้แพ้
ยาแก้แพ้ต้านฮีสตามีน มีหน้าที่ ไปจับ Histamine (สารภูมิแพ้) ไม่ให้ไปจับกับร่างกาย เมื่อมีการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ สารฮีสตามีนไปจับกับร่างกายไม่ได้ ก็จะไม่เกิดอาการแพ้ใดๆ
ยาฮีสตามีนสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 รุ่น คือ ยาต้านฮีสตามีนรุ่นแรก ที่เป็น first generation และ รุ่นปัจจุบัน new generation
สารฮีสตามีนก็มีความสำคัญกับสมอง โดยเฉพาะสมองส่วนหน้า ปลายประสาทจะหลั่งสารฮีสตามีน กระตุ้นให้สมองตื่น ไม่ง่วง กระปรี้กระเปร่า เมื่อกินยาฮีสตามีนกลุ่มแรก ยาจะซึมเข้าสู่สมอง แล้วไปจับกับสมอง ทำให้ขาดสารฮีสตามีน ส่งผลให้ร่างกายและสมองมีภาวะเซื่องซึม ง่วง ไม่กระฉับกระเฉง จึงมีการพัฒนายาภูมิแพ้รุ่นใหม่ๆออกมา เพื่อไม่ให้ยาไปกดส่วนสมอง และเกิดผลข้างเคียงยาภูมิแพ้ดังกล่าว จนได้เป็นกลุ่มยาภูมิแพ้รุ่นปัจจุบัน
ยาแก้แพ้กลุ่มต้านฮีสตามีนทั้ง 2 รุ่น มีอะไรบ้าง และแตกต่างกันอย่างไร
1. ยาต้านฮีสตามีนกลุ่มดั้งเดิม หรือยาแก้แพ้ที่ทำให้ง่วงซึม (conventional antihistamines)
กลุ่มนี้จะเป็นยาต้านฮีสตามีนรุ่นแรก ซึ่งตัวยาแก้แพ้ในกลุ่มนี้ ได้แก่ บรอมเฟนิรามีน (brompheniramine), คลอเฟนิรามีน (chlorpheniramine), ไดเฟนไฮดรามีน (diphenhydramine), ไดเมนไฮดริเนต (dimenhydrinate), คีโตติเฟน (ketotifen), ทริโปรลิดีน (triprolidine), ออกซาโทไมด์ (oxatomide) และ ไฮดรอไซซีน (hydroxyzine)
กลุ่มยาภูมิแพ้นี้สามารถใช้ในการรักษาอาการภูมิแพ้เยื่อจมูกอักเสบ ที่มีอาการนํ้ามูกไหล คัน จาม หรือใช้ร่วมกับยาชนิดอื่นตามอาการที่แสดง ภูมิแพ้ตามฤดูกาล ผื่นลมพิษ ภูมิแพ้ผิวหนัง อาการคันเนื่องจากแมลงกัดต่อย สัมผัสพิษของพืช หรือสารเคมีบางชนิด ช่วยบรรเทาอาการคันจมูก จาม นํ้ามูกไหล และยังช่วยบรรเทาอาการเมารถ เมาเรือ
ตัวยาที่ทั้งช่วยในการรักษาภูมิแพ้ และสามารถป้องกันอาการภูมิแพ้ได้ คือ คีโตติเฟน และ ออกซาโทไมด์ เนื่องจากยาทั้งสองตัวทำให้เยื่อหุ้มเซลล์ที่หลั่งฮีสตามีน และสารก่ออักเสบอื่นๆทนทาน แต่เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันการปลอดปล่อยสารฮีสตามีน จะต้องใช้ยาอย่างสมํ่าเสมอก่อนสัมผัสสารที่อาจก่อให้เกิดภูมิแพ้ ประมาณ 2- 3 สัปดาห์
จากที่เกริ่นไว้แล้ว ว่ายาในกลุ่มนี้สามารถซึมผ่านเข้าสู่สมอง ไปกดระบบประสาทได้ ส่งผลให้ผู้ที่ใช้ยามีอาการง่วงซึม หากได้รับยาขนาดสูง อาจมีผลข้างเคียงของยาภูมิแพ้ เช่น นอนไม่หลับ มีอาการกระวนกระวาย ไม่อยู่นิ่ง ปากแห้ง จมูกแห้ง ตาพร่า น้ำหนักเพิ่มขึ้น
เนื่องจากยากลุ่มนี้ทำให้มีอาการง่วงนอน จึงควรใช้อย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับการควบคุมเครื่องจักร ขับรถ และห้ามใช้ร่วมกับยากล่อมประสาท ยานอนหลับ หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
นอกจากนี้ยากลุ่มดั้งเดิมยังอาจส่งผลต่อความดันในลูกตาผิดปกติ และระบบขับถ่ายปัสสาวะ จึงต้องระวังในการใช้กับกลุ่มผู้ป่วยบางโรค เช่น ผู้ที่มีต่อมลูกหมากโต มีความดันในลูกตาสูง เป็นต้อหินบางชนิด และหญิงที่อยู่ระหว่างให้นมบุตร รวมไปถึงการใช้ยาแก้แพ้ในเด็กเล็ก เพราะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ดังนั้นกลุ่มคนเหล่านี้ไม่ควรซื้อยาแก้แพ้มารับประทานเอง แต่จะต้องทำการปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนจะใช้ยา
2. ยาแก้แพ้รุ่นสอง หรือ ยาต้านฮีสตามีนกลุ่มที่ไม่ทำให้ง่วงนอน (non-sedating antihistamines)
ยาต้านฮีสตามีนรุ่นนี้ จะออกฤทธิ์เช่นเดียวกับยาต้านฮีสตามีนรุ่นแรก แต่ตัวยาซึมผ่านเข้าสมองได้น้อยมาก จึงไม่ค่อยส่งผลที่จะทำให้เกิดอาการง่วงนอน ยาภูมิแพ้ในกลุ่มนี้ ได้แก่ เซทิริซีน (cetirizine) , ลอราทาดีน (loratadine) เลโวเซทิริซีน (levocetirizine), และ เฟโซเฟนาดีน (fexofenadine)
ยาแก้แพ้กลุ่มนี้ใช้รักษาอาการต่างๆ ได้คล้ายกับกลุ่มดั้งเดิม โดยเฉพาะ เซทิริซีน ที่ให้ผลดีในการลดผื่นลมพิษแบบเฉียบพลัน และยังช่วยลดอาการคันได้เร็วกว่ายาตัวอื่นที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน แต่อาจช่วยบรรเทาอาการนํ้ามูกไหล อาการเมารถ เมาเรือ ได้ไม่ดีเท่ากลุ่มดั้งเดิม
อาการง่วงซึม จมูกและปากแห้ง คอแห้ง ตาพร่า จะค่อนข้างพบได้น้อยกว่ายาต้านฮีสตามีนกลุ่มดั้งเดิม สำหรับผู้ที่รับประทานยาอื่นอยู่ก่อน ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบด้วยเพราะยาฆ่าเชื้อบางชนิดอาจเกิดปฏิกิริยาเมื่อรับประทานร่วมกับยาแก้แพ้ได้ นอกจากนี้ยังจะต้องระวังในกลุ่มผู้ป่วยโรคตับ โรคไต และผู้ที่มีประวัติคลื่นหัวใจผิดปกติ เพราะอาจจะต้องปรับขนาดและปริมาณยา รวมไปถึงหญิงที่ตั้งครรภ์ และที่อยู่ในระหว่างให้นมบุตร จะต้องระวังในการใช้ยา และควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้งเช่นกัน เนื่องจากมียาบางตัวอาจก่อให้ทารกเกิดวิกลรูปได้เช่นเดียวกับกลุ่มดั้งเดิมจึงไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง
วิธีการรักษาอาการแพ้ที่ดีที่สุดคือ หลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ หมั่นออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเกิดความรำคาญและอาการทรมานจากอาการแพ้ แต่ถ้าไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง และใช้ยาในปริมาณที่เหมาะสมตามแพทย์สั่ง เพื่อความปลอดภัย เนื่องจากยาแก้แพ้หรือยาภูมิแพ้แต่ละกลุ่มมีข้อห้ามใช้ และข้อควรระวังที่แตกต่างกัน จึงไม่ควรประมาทการใช้ยาทุกชนิด